คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1648/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โรงเรียนประชาบาลประเภทโรงเรียนประถมศึกษาที่นายอำเภอตั้งและดำรงอยู่ด้วยเงินของประชาชนและเงินของการประถมศึกษาในงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวได้จัดซื้อที่ 1 แปลงเพื่อใช้เป็นที่ก่อสร้างโรงเรียนและใช้เป็นประโยชน์เกี่ยวกับกิจการของโรงเรียน ที่ดินดังกล่าวนับว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดโดยมีหน้าที่คุ้มครองและรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ฯลฯมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งผิดสัญญาเช่าที่โรงเรียนดังกล่าวแล้วได้
การที่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เห็นแย้งในข้อกฎหมาย ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิฎีกาในข้อเท็จจริงในเมื่อทุนทรัพย์ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลวัลลภราษฎร์รังสรรค์ตำบลบ้านหนุน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ทางราชการได้จัดซื้อที่ 8 ไร่เศษเพื่อใช้สร้างตัวโรงเรียน และใช้ประโยชน์เกี่ยวแก่กิจการของโรงเรียนเมื่อ 13 มกราคม 2484 ซึ่งโจทก์ถือว่าที่นี้เป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน ต่อมา พ.ศ. 2486 กรมทางหลวงแผ่นดินได้ตัดถนนผ่านที่ ได้ทำให้ที่แยกออกเป็น 2 แปลง คือแปลงตะวันออกเป็นที่ตั้งโรงเรียน ตะวันตกทางการจัดให้เป็นที่นักเรียนฝึกหัดทำการเพาะปลูก พ.ศ. 2491 จำเลยมาขอทำสัญญาเช่าที่แปลงตะวันตก700 ตารางเมตรเพื่อปลูกบ้าน 5 ปี ครั้นถึง พ.ศ. 2497 หมดกำหนดอายุสัญญาเช่า ทางโรงเรียนจำเป็นจะใช้ที่นั้นจึงได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลย และให้จำเลยออกจากที่ไปใน 30 วัน ครบกำหนดจำเลยไม่ออก จึงมาฟ้องให้ศาลบังคับ

จำเลยต่อสู้ว่าไม่เคยทำสัญญาเช่า ถ้ามีสัญญาก็เป็นเพราะจำเลยสำคัญผิดโดยจำเลยถูกหลอกลวงเพราะจำเลยไม่รู้หนังสือ ที่พิพาทเดิมเป็นที่รกร้างจำเลยเข้าแผ้วถางปกครองมาร่วม 20 ปี

ศาลชั้นต้นได้พิจารณาคดีแล้ว พิพากษาให้จำเลยแพ้คดี

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

คดีนี้ทุนทรัพย์เพียง 3,000 บาท เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าจำเลยได้เช่า จำเลยจะคัดค้านว่าเป็นป่าได้แผ้วถางมาไม่ได้ และการที่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งเห็นแย้งในข้อกฎหมายกรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นซึ่งอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้

สำหรับที่ดินที่พิพาทศาลฎีกาเห็นว่าเป็นที่ดินที่ทางราชการได้จัดซื้อขึ้นจึงเป็นทรัพย์ของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 การที่ทางราชการให้จำเลยเช่า หาทำให้ที่พิพาทกลับเป็นของเอกชนคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะไม่ คงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่นั่นเอง

ตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 มาตรา 37ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2499 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด โดยมีหน้าที่คุ้มครองดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ฯลฯ ฉะนั้น นายชุณห์ นกแก้ว ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ ฯลฯจึงพิพากษายืน

Share