แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนทั้งสองคดีกับคดีนี้โจทก์คนเดียวกันฟ้องจำเลยทั้งสองในวันเดือนปีเดียวกันในการกระทำความผิดลักษณะเดียวกัน ใบกำกับภาษีที่ว่าปลอมหรือออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นของห้างเดียวกันกับในคดีนี้ และการใช้ใบกำกับภาษีนั้นมีการใช้ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่าใบกำกับภาษีของทั้งสามคดีเป็นฉบับเดียวกัน ทั้งจำเลยที่ 1 ของทุกคดี เป็นนิติบุคคลคนละคนกัน และ ป.รัษฎากร มาตรา 39 มิได้บัญญัติว่าจำเลยที่ 1 อีก 2 คดีที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นเครือเดียวกันถือว่าเป็นนิติบุคคลเดียวกัน มีแต่จำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ในทุกคดี ดังนั้น แม้คดีทั้งสองที่จำเลยทั้งสองอ้างดังกล่าวจะมีคำพิพากษาแล้ว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว
จำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีทั้งสองดังกล่าว แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นนิติบุคคลคนละคนกันก็ตาม แต่ลักษณะแห่งคดีเป็นการนำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้เครดิตภาษีในเดือนภาษีเดียวกัน และความผิดเป็นอย่างเดียวกัน คดีทั้งสามมีความเกี่ยวพันกันโดยอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้เมื่อโจทก์แยกฟ้องโดยศาลมิได้สั่งให้รวมการพิจารณาคดีด้วยกัน และโทษที่จะกำหนดลงโทษจำเลยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 90/4 (7) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท ดังนั้น หากศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ทุกกรรมแล้ว ก็ต้องอยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ดังนั้น การนับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของสองคดีดังกล่าวรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 20 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1, 90/4 (7), 90/5 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1544/2553 และ 1545/2553 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (7) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 50,000 บาท รวม 19 กระทง เป็นเงิน 950,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 ปี รวม 19 กระทง เป็นจำคุก 38 ปีแต่ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1544/2553 และ1545/2553 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดรวม 6 กระทง ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 50,000 บาท รวม 6 กระทงเป็นเงิน 300,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 ปี รวม 6 กระทง จำคุก 12 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการตามประมวลรัษฎากรได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 จึงมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขายและภาษีซื้อซึ่งหากภาษีขายมีมากกว่าภาษีซื้อ จำเลยที่ 1 ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับหน่วยงานของรัฐที่จัดเก็บภาษีคือ สำนักงานสรรพากรจังหวัดเชียงใหม่ แต่หากภาษีซื้อมีมากกว่าภาษีขาย จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มคืน โดยทั้งสองกรณีจำเลยที่ 1 ต้องใช้ใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรายที่ขายสินค้าที่ออกให้กับจำเลยที่ 1 เป็นหลักฐานในการคำนวณเสียภาษีหรือในการขอรับเงินภาษีคืน และคดีนี้ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยทั้งสองนำใบกำกับภาษีรวม 544 ฉบับ ที่ออกโดยบริษัทอุดมทรัพย์รุ่งเรือง (1998) จำกัด บริษัททรีโอ ออยส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทกุมารสิทธิ์ จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดเทพทวีสินจักรกลและห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.เอ็น.พี. แมชชีนเนอรี่ ไปใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่านอกจากคดีนี้โจทก์ยังได้ฟ้องอีกสองคดีคือคดีอาญา หมายเลขดำที่ 1544/2553 และ 1545/2553 ของศาลชั้นต้น เป็นการฟ้องในมูลกรณีเดียวกัน จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลเดียวกันกับคดีนี้ ส่วนจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นบุคคลเดียวกันเพราะเป็นบริษัทในเครือ ดังนั้น คดีนี้และอีกสองคดีที่กล่าวเป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนนั้น เห็นว่า คดีทั้งสองกับคดีนี้โจทก์คนเดียวกันฟ้องจำเลยทั้งสองในวันเดือนปีเดียวกันในการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกัน ใบกำกับภาษีที่ว่าปลอมหรือออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นของห้างเดียวกันกับคดีนี้ และการใช้ใบกำกับภาษีนั้นมีการใช้ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่าใบกำกับ/ใบเสร็จรับเงิน/ใบส่งของทั้งสามคดีเป็นฉบับเดียวกัน ทั้งจำเลยที่ 1 ของทุกคดี เป็นนิติบุคคลคนละคนกัน และประมวลรัษฎากรมาตรา 39 มิได้บัญญัติว่าจำเลยที่ 1 อีก 2 คดีตามที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นเครือเดียวกันถือว่าเป็นนิติบุคคลเดียวกัน มีแต่จำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ในทุกคดีดังนั้น แม้คดีทั้งสองที่จำเลยทั้งสองอ้างดังกล่าวจะมีคำพิพากษาแล้ว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว แต่ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 547/2555 และ 583/2555 (ที่ถูก 548/2555) ที่ศาลชั้นต้นให้นับโทษต่อเป็นความผิดในคราวเดียวกัน เป็นการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เกินกว่า 20 ปี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เห็นว่า คดีดังกล่าวคือคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1544/2553 และ 1545/2553 ของศาลชั้นต้นที่กล่าวในข้างต้นแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวแล้วได้ความว่า
จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจะเป็นคนละคนกันก็ตาม แต่ลักษณะแห่งคดีเป็นการนำใบกำกับภาษีปลอมของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.เอ็น.พี. แมชชีนเนอรี่ ไปใช้เครดิตภาษีในเดือนภาษีธันวาคม 2544 ถึงเดือนภาษีเมษายน 2545 เหมือนกัน และความผิดเป็นอย่างเดียวกัน คดีทั้งสามมีความเกี่ยวพันกันโดยอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ เมื่อโจทก์แยกฟ้องโดยศาลมิได้สั่งรวมพิจารณาคดีด้วยกันและโทษที่จะกำหนดลงโทษจำเลยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (7) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท ดังนั้น หากศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ทุกกรรมแล้ว ก็ต้องอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) โดยหากจำคุกจำเลยที่ 2 เต็มตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ในสำนวนใดสำนวนหนึ่งแล้ว ก็ไม่อาจนับโทษต่อในอีกสำนวนหนึ่งได้ และเมื่อคดีทั้งสองศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 ในแต่ละสำนวนทุกกระทงแล้ว จำคุกสำนวนละ 10 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน โจทก์ไม่ได้ยื่นฎีกา ดังนั้น การนับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของสองคดีดังกล่าวรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสอง เห็นว่าเป็นเพียงข้อปลีกย่อยที่ไม่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนไปจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 547/2555 และ 548/2555 ของศาลชั้นต้นแต่เมื่อรวมโทษทุกคดีแล้วให้จำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 91 (2) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5