คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกรณีที่โจทก์ จำเลยมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันและมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างคดีธรรมดาที่จะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยแล้วพิพากษาชี้ขาดประเด็นข้อพิพาท ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือไม่เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องได้ ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความในคดีรวมทั้ง ก. และ น. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย แม้จะมี ก. และ น. เข้าร่วมตกลงด้วย
การที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง ก. และ น. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอม สัญญาประนีประนอมยอมความจึงชอบด้วยกฎหมาย ผูกพันคู่สัญญาทุกฝ่ายในสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนคำพิพากษาตามยอมซึ่งพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความผูกพันเฉพาะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ไม่ผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความเว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 142 (1), 245 และ 274 และในข้อยกเว้นตามมาตรา 145 วรรคสอง (1) (2) เมื่อ ก. ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอบังคับคดีแก่ ก. โดยอาศัยสัญญาประนีประนอมและคำพิพากษาตามยอมคดีนี้ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ ก. เป็นคดีต่างหาก แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 11 ระบุว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดข้อตกลงในสัญญายอมข้อใดข้อหนึ่งให้บังคับคดีไปตามสัญญายอมนี้ได้ทันที โดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมของศาลเป็นการแสดงเจตนา พร้อมให้ชำระเงิน 2,000,000 บาท แก่คู่ความอีกฝ่ายด้วย ก็มีความหมายเพียงว่า ถ้าคู่สัญญาคนใดในสัญญาประนีประนอมยอมความผิดสัญญาข้อใดก็ให้บังคับคดีเอาแก่คู่สัญญานั้นตามสัญญาแต่ละข้อเท่านั้น เพราะในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวมิได้มีข้อตกลงให้โจทก์ทั้งสองกับ ก. ต้องรับผิดร่วมกันในการชำระหนี้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมิได้ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเอาแก่โจทก์ทั้งสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมภพ กับนางวีณาหรือกัญญาพัชร์ นายสมภพเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสาวฐิติมา เจ้ามรดก โดยนายสมภพและเจ้ามรดกมีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม 9 คน นายสมภพถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548 เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 ส่วนจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามคำสั่งศาล จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้ทายาท ทั้งยังเบียดบังทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกบางส่วนเป็นของตน เท่าที่โจทก์ทั้งสองทราบเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นมูลค่า 19,169,777.93 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองแบ่งมรดกดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสอง 1 ใน 8 ส่วนจำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองมิได้กระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก แต่ได้ติดตามรวบรวมทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกมาเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาท จำเลยทั้งสองอยู่ในระหว่างฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกจากโจทก์ทั้งสองและมารดาโจทก์ทั้งสองและต่อสู้คดีในคดีที่มารดาโจทก์ทั้งสองฟ้องว่า ทรัพย์สินไม่ใช่มรดกของเจ้ามรดก โจทก์ทั้งสองและมารดาโจทก์ทั้งสองไม่ยอมส่งมอบทรัพย์มรดกให้กองมรดก ทำให้จำเลยทั้งสองไม่อาจตรวจสอบทรัพย์มรดกได้ครบ ทั้งยังมีเหตุจำเป็นที่ต้องนำเงินหรือทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรวบรวมทรัพย์มรดก โจทก์ทั้งสองและมารดาโจทก์ทั้งสองปลอมแปลงพินัยกรรมของเจ้ามรดก ขณะนี้อยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา โจทก์ทั้งสองจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดก ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกมีมูลค่าไม่ถึง 19,169,777.93 บาท ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ
ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2555 โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองและนางกัญญาพัชร์ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมภพ และนางสาวเนตรนัดดา (น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดก) ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลชั้นต้น ความว่า ข้อ 1. นายสุรพงศ์ และนางสาวเนตรนัดดา ตกลงโอนสิทธิการครอบครองในที่ดินสวนยางพาราพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินแปลงเลขที่ 29 และเลขที่ 30 ของสหกรณ์นิคมปะทิว จำกัด ตำบลทะเลทรัพย์ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือบุคคลที่โจทก์ทั้งสองตกลงยินยอม โดยโจทก์ทั้งสองจะเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิทั้งสิ้น โดยนายสุรพงศ์ และนางเนตรนัดดา จะขนย้ายแบบพิมพ์แผ่นยาง เครื่องจักรรีดยาง อุปกรณ์ในการกรีดยาง สายไฟและเสาไฟฟ้าออกไปจากที่ดินดังกล่าวก่อนโอนสิทธิให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยนายสุรพงศ์ และนางสาวเนตรนัดดา จะสละสิทธิและโอนสิทธิให้แก่โจทก์ทั้งสองภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 หากนายสุรพงศ์ และนางสาวเนตรนัดดาไม่ไปดำเนินการโอนสิทธิ และส่งมอบการครอบครองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ยินยอมชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ข้อ 2. โจทก์ทั้งสองตกลงยินยอมสละมรดกที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับตามกฎหมายจากกองมรดกของนางสาวฐิติมา ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์มรดกที่ปรากฏอยู่แล้วในเวลานี้หรือเกิดขึ้นในภายหน้า และโจทก์ทั้งสองไม่ติดใจเรียกร้องสิทธิหรือส่วนแบ่งใด ๆ ในทรัพย์มรดกของนางสาวฐิติมา หรือเรียกร้องสิทธิหรือส่วนแบ่งใดๆ จากทายาทของผู้ตายหรือจากจำเลยทั้งสองอีกแต่อย่างใดทั้งสิ้น และทายาทอื่นก็จะไม่เรียกร้องสิทธิจากโจทก์ทั้งสองและนางกัญญาพัชร์ เช่นกัน ข้อ 3. คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 46/2555 ของศาลจังหวัดชุมพร นางกัญญาพัชร์ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมภพ ตกลงว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนโฉนดเลขที่ 7235, 18271, 18272 เลขที่ดิน 30, 45, 46 ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เป็นทรัพย์มรดกของนางสาวฐิติมา โดยจำเลยทั้งสองจะชำระเงินสดจำนวน 500,000 บาท ให้แก่นางกัญญาพัชร์ ภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้และส่งมอบการครอบครองและต้นฉบับโฉนดภายในวันเดียวกัน ข้อ 4. คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1272/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 973/2555 ของศาลจังหวัดมีนบุรีนางกัญญาพัชร์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมภพ ตกลงจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 23015, 23018, 23019 เลขที่ดิน 435, 438, 439 ตำบลสามวาตะวันออก อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการโอนตีใช้หนี้หรือชำระหนี้ให้แก่กองมรดกของนางสาวฐิติมา ต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี ภายใน 30 วัน นับจากวันนี้ ค่าธรรมเนียมในการโอนมาเป็นชื่อของกองมรดกของนายสมภพ นางกัญญาพัชร์ เป็นผู้ชำระเอง ส่วนค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการโอนจากนางกัญญาพัชร์ ไปยังทายาทของนางสาวฐิติมา ฝ่ายผู้รับโอนเป็นฝ่ายชำระเองทั้งสิ้น แต่หากนางกัญญาพัชร์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมภพ สามารถโอนให้แก่ทายาทของนางสาวฐิติมา ได้โดยตรง ให้ทั้งสองฝ่ายเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการโอนคนละกึ่งหนึ่ง ถ้านางกัญญาพัชร์ ไม่ไปดำเนินการภายในกำหนดเวลาดังกล่าวยินยอมชำระเงินให้แก่จำเลยทั้งสองจำนวน 2,000,000 บาท อีกส่วนหนึ่งจำเลยทั้งสี่ตกลงถอนอุทธรณ์ โจทก์ไม่ค้าน และโจทก์ไม่ติดใจที่จะบังคับคดีอีกต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความใช้แทนให้คืนแก่จำเลยที่ 1 (นางกัญญพัชร์) ผู้อุทธรณ์ทั้งหมด ข้อ 5. คดีหมายเลขดำที่ ย.782/2549 คดีหมายเลขแดงที่ ย.1188/2550 นางกัญญาพัชร์ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมภพตกลงว่าจะนำเงินหรือหลักทรัพย์ไปวางประกันการชำระหนี้ของศาลแพ่งในต้นเงินและดอกเบี้ยตามคำพิพากษาภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้ ถ้านางกัญญาพัชร์ไม่ไปดำเนินการภายในกำหนดยินยอมชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาทให้แก่จำเลยทั้งสอง ข้อ 6. คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.203/2554 ของศาลจังหวัดชุมพรนายสุรพงศ์ โจทก์ตกลงถอนอุทธรณ์ จำเลยไม่ค้าน และจำเลยไม่ติดใจที่จะบังคับคดีอีกต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความใช้แทนให้คืนแก่โจทก์ผู้อุทธรณ์ทั้งหมด ข้อ 7. คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.45/2555 ของศาลจังหวัดชุมพร นายสุรพงศ์โจทก์ตกลงถอนอุทธรณ์ จำเลยไม่ค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความใช้แทนให้คืนแก่โจทก์ผู้อุทธรณ์ทั้งหมด ข้อ 8. คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.201/2554 ของศาลจังหวัดชุมพร นางสาวเนตรนัดดา ตกลงโอนที่ดินพิพาทแปลง 30 ให้แก่จำเลยทั้งสอง และโจทก์จะดำเนินการถอนฟ้องในวันนี้ จำเลยไม่ค้าน จำเลยทั้งสองถอนฟ้องแย้ง โจทก์ไม่ค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความใช้แทนให้คืนแก่คู่ความแต่ละฝ่ายตามคำสั่งศาล ข้อ 9. คดีอาญาหมายเลขดำที่ พ.2501/2555 ของศาลอาญา นางสาวเนตรนัดดา และนายสุรพงศ์ ตกลงจะดำเนินการถอนฟ้องภายใน 30 วัน นับแต่วันนี้ จำเลยไม่ค้าน ข้อ 10. คดีอาญาหมายเลขดำที่ 963/2555 ของศาลจังหวัดชุมพร โจทก์ทั้งสองจะดำเนินการถอนฟ้องในวันนี้ จำเลยไม่ค้าน ข้อ 11.หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดข้อตกลงในสัญญายอมข้อใดข้อหนึ่งให้บังคับคดีไปตามสัญญายอมนี้ได้ทันทีโดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมของศาลเป็นการแสดงเจตนา พร้อมให้ชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท แก่คู่ความอีกฝ่ายด้วย ข้อ 12. คู่ความทุกฝ่ายไม่ติดใจที่จะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ นอกเหนือจากนี้อีก และจะปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ทุกข้อโดยเคร่งครัด ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม
ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นให้ออกหมายบังคดีแก่โจทก์ทั้งสองและนางกัญญาพัชร์ เนื่องจากนางกัญญาพัชร์ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 ส่วนโจทก์ทั้งสองผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 11. ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า นางกัญญาพัชร์มิใช่คู่ความในคดี สัญญาประนีประนอมยอมความที่นางกัญญาพัชร์กระทำกับโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสอง ถือไม่ได้ว่าได้กระทำในฐานะคู่ความแห่งคดี คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงไม่ผูกพันนางกัญญาพัชร์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ยกคำขอ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้วมีคำพิพากษาต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง นางกัญญาพัชร์ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมภพ และนางสาวเนตรนัดดา ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2555 และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้วในวันเดียวกันนั้น ตามเอกสารอันดับที่ 46 และ 47 ในสำนวนคดีนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองเป็นข้อแรกว่า สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกรณีที่โจทก์ จำเลยมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันและมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างคดีธรรมดาที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยแล้วพิพากษาชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทไป ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือไม่เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องได้ ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความในคดีรวมทั้ง นางกัญญาพัชร์ และนางสาวเนตรนัดดาตกลงกันได้โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย แม้สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจะมีนางกัญญาพัชร์และนางสาวเนตรนัดดาเข้าร่วมตกลงด้วย ก็เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ชอบด้วยกฎหมาย สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมจึงมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองมีว่าสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันนางกัญญาพัชร์หรือไม่ และจำเลยทั้งสองมีสิทธิบังคับคดีแก่นางกัญญาพัชร์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง นางกัญญาพัชร์และนางสาวเนตรนัดดดาตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้วสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย มีผลผูกพันคู่สัญญาทุกฝ่ายในสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนคำพิพากษาตามยอมซึ่งพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมผูกพันเฉพาะคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่บุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความในศาลด้วยก็ดี คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 142 (1), 245 และ 274 และในข้อยกเว้นตามมาตรา 145 วรรคสอง (1) (2) เมื่อนางกัญญาพัชร์เป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดี แม้นางกัญญาพัชร์ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งให้ร่วมกับโจทก์ทั้งสองชำระหนี้แก่จำเลยทั้งสอง และนางกัญญาพัชร์ได้เข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ โดยตกลงจะนำเงินหรือหลักทรัพย์ไปวางเป็นประกันการชำระหนี้ของศาลแพ่งในต้นเงินและดอกเบี้ยตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 5. ก็ยังฟังไม่ได้ว่านางกัญญาพัชร์ได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันในศาลตามคำขอออกหมายบังคับคดีของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2557 เมื่อนางกัญญาพัชร์มิใช่บุคคลที่ได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันในศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 ทั้งกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 145 วรรคสอง (1) (2) ด้วย คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันนางกัญญาพัชร์บุคคลภายนอก เมื่อนางกัญญาพัชร์ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอบังคับคดีแก่นางกัญญาพัชร์โดยอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคดีนี้ หากแต่เป็นกรณีที่ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่นางกัญญาพัชร์เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองมีว่านางกัญญาพัชร์และโจทก์ทั้งสองประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้วนั้นได้ระบุข้อตกลงในการปฏิบัติการชำระหนี้ไว้อย่างชัดแจ้งโดยข้อ 1. ระบุให้จำเลยที่ 1 และนางสาวเนตรนัดดา เป็นผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสอง ข้อ 2. ระบุว่า โจทก์ทั้งสองตกลงสละมรดกที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับตามกฎหมายจากกองมรดกของนางสาวฐิติมา ทั้งหมด ข้อ 3. ระบุว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 46/2555 ของศาลจังหวัดชุมพร นางกัญญาพัชร์ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมภพตกลงว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่ระบุเป็นทรัพย์มรดกของนางสาวฐิติมา โดยจำเลยทั้งสองจะชำระเงิน 500,000 บาท ให้แก่นางกัญญาพัชร์ ข้อ 4. ระบุว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1272/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 973/2555 ของศาลจังหวัดมีนบุรี นางกัญญาพัชร์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมภพตกลงจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่ระบุเพื่อตีใช้หนี้หรือชำระหนี้แก่กองมรดกของนางสาวฐิติมา ถ้านางกัญญาพัชร์ไม่ไปดำเนินการภายในกำหนด ยินยอมชำระเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง 2,000,000 บาท อีกส่วนหนึ่ง ส่วนจำเลยทั้งสี่ตกลงถอนอุทธรณ์ ข้อ 5. ระบุว่า คดีหมายเลขดำที่ ย.782/2549 คดีหมายเลขแดงที่ ย.1188/2550 นางกัญญาพัชร์ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมภพตกลงนำเงินหรือหลักทรัพย์ไปวางประกันการชำระหนี้ของศาลแพ่ง ถ้านางกัญญาพัชร์ไม่ไปดำเนินการภายในกำหนด ยินยอมชำระเงิน 2,000,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสอง ข้อ 6. ระบุว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.203/2554 ของศาลจังหวัดชุมพร จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวตกลงถอนอุทธรณ์ ข้อ 7. ระบุว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.45/2555 ของศาลจังหวัดชุมพร จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวตกลงถอนอุทธรณ์ ข้อ 8. ระบุว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.201/2554 ของศาลจังหวัดชุมพร นางสาวเนตรนัดดาตกลงโอนที่ดินพิพาทแปลง 30 ให้แก่จำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว และโจทก์ในคดีดังกล่าวจะถอนฟ้อง จำเลยทั้งสองถอนฟ้องแย้ง ข้อ 9. ระบุว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ พ.2501/2555 ของศาลอาญา นางสาวเนตรนัดดา และจำเลยที่ 1 ตกลงขอถอนฟ้อง ข้อ 10. ระบุว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ 963/2555 ของศาลจังหวัดชุมพร โจทก์ทั้งสองจะถอนฟ้อง ตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ทั้งสอง นางกัญญาพัชร์ จำเลยทั้งสองและนางสาวเนตรนัดดาแยกกันรับผิดในการปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกัน และในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีการแยกคู่สัญญาออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายโจทก์ทั้งสองมีบุคคลใดบ้าง และฝ่ายจำเลยทั้งสองมีบุคคลใดบ้าง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางกัญญาพัชร์ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 5. เพียงคนเดียวนางกัญญาพัชร์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งสองชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่นางกัญญาพัชร์และบังคับเอาแก่นางกัญญาพัชร์เท่านั้น แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 11. ระบุว่าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดข้อตกลงในสัญญายอมข้อใดข้อหนึ่งให้บังคับคดีไปตามสัญญายอมนี้ได้ทันที โดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมของศาลเป็นการแสดงเจตนา พร้อมให้ชำระเงิน 2,000,000 บาท แก่คู่ความอีกฝ่ายด้วย ก็มีความหมายเพียงว่า ถ้าคู่สัญญาคนใดในสัญญาประนีประนอมยอมความผิดสัญญาข้อใดก็ให้บังคับคดีเอาแก่คู่สัญญานั้นตามสัญญาแต่ละข้อเท่านั้น เพราะในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวมิได้มีข้อตกลงให้โจทก์ทั้งสองกับนางกัญญาพัชร์ต้องรับผิดร่วมกันในการชำระหนี้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมิได้ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเอาแก่โจทก์ทั้งสอง ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 29 สิงหาคม 2557 ที่ให้ยกคำขอออกหมายบังคับคดีของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2557 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share