แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 ที่เห็นชอบให้กำหนดขอบเขตสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินตามมาตรา 13 (2) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งสามารถดำเนินการได้เองเมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจให้ความเห็นชอบแล้ว เป็นเพียงการให้อำนาจคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งในการปรับปรุงค่าจ้าง การกำหนดอัตราค่าจ้างแรกบรรจุ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำขั้นสูงของลูกจ้างทุกตำแหน่งเท่านั้น หาได้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจไม่ ดังนั้นโรงงานยาสูบโดยคณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบจึงไม่อาจอ้างมติคณะรัฐมนตรีมามีมติและคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ทั้งแปดร้อยหกเป็นกรณีพิเศษ คนละ 1 ขั้นได้ การเลื่อนขั้นเงินเดือนของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกจึงต้องตกอยู่ภายใต้ระเบียบโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานยาสูบ พ.ศ.2520 ซึ่งกำหนดให้การเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีให้เลื่อนตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนแรกของปีที่ได้เลื่อน อันได้แก่วันที่ 1 ตุลาคมของปีงบประมาณภายใต้วงเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนที่ได้รับอนุมัติไว้ในแต่ละปี ดังนั้น คำสั่งที่ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนโจทก์ทั้งแปดร้อยหกคนละ 1 ขั้น ให้มีผลในวันที่ 7 เมษายน 2547 จึงขัดต่อระเบียบดังกล่าว ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ แม้คณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบจะมีคำสั่งให้ปรับเงินเดือนของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกไปแล้วอันอาจมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกมากกว่าก็ตาม แต่สภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยพลการนั้นต้องเป็นสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นโดยชอบเท่านั้น เมื่อคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนแก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกไม่ชอบตามระเบียบข้างต้น โจทก์ทั้งแปดร้อยหกจึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งแปดร้อยหกฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินเดือนที่หักไปพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่หักเงินคืนไปแก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกตามบัญชียอดเงินท้ายฟ้องกับให้คืนขั้นเงินเดือนแก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกอีกคนละ 1 ขั้นตามเดิม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งแปดร้อยหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งแปดร้อยหกเป็นพนักงานโรงงานยาสูบ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2545 คณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบมีมติขยายอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของผู้อำนวยการยาสูบโดยนำเสนอให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ให้ความเห็นชอบ ต่อมากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีหนังสือที่ รง 0509/08709 ลงวันที่ 10พฤศจิกายน 2546 เห็นชอบในหลักการและให้โรงงานยาสูบพิจารณาเสนอขอขยายอัตราเงินเดือนขั้นสูงของพนักงานทุกระดับเสนอให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พิจารณา ระหว่างพิจารณาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 เห็นชอบให้กำหนดขอบเขตสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งดำเนินการได้เองเมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจให้ความเห็นชอบแล้ว คณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบจึงมีมติในวันที่ 29 มิถุนายน 2547 ให้ขยายอัตราเงินเดือนของผู้อำนวยการยาสูบและพนักงานยาสูบออกไปตามบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่กับมีมติและคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกคนละ 1 ขั้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าว วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 โรงงานยาสูบมีหนังสือเรียกเงินเดือนที่ปรับขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกคืน ระเบียบโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเพิ่มค่าจ้างค่าแรงพนักงานยาสูบประเภทรายวันและรายชั่วโมง พ.ศ.2520 และว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานยาสูบ พ.ศ.2520 กำหนดให้การเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีตามปกติให้เลื่อนตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนแรกของปีที่เลื่อนขั้นซึ่งหมายถึงวันที่ 1 ตุลาคมของปีงบประมาณ แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง การเลื่อนขั้นเงินเดือนนอกเหนือจากปีงบประมาณน่าจะมีกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ไว้ในระเบียบอย่างชัดเจน โดยในปี 2538 มีการปรับเพดานเงินเดือนใหม่เช่นเดียวกับคดีนี้ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ตุลาคม 2538 อันเป็นปีงบประมาณ การเลื่อนขั้นเงินเดือนของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกจึงต้องเป็นไปตามระเบียบโรงงานยาสูบดังกล่าว การจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกในอัตราเงินเดือนใหม่นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2547 จึงไม่ชอบ โรงงานยาสูบชอบที่จะเรียกเงินเดือนที่ปรับขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกคืนได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกว่า จำเลยต้องคืนเงินเดือนที่หักไปตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกหรือไม่ เห็นว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 ที่เห็นชอบให้กำหนดขอบเขตสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งสามารถดำเนินการได้เองเมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจให้ความเห็นชอบแล้ว เป็นเพียงการให้อำนาจคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งในเรื่องการปรับปรุงค่าจ้างในการกำหนดอัตราค่าจ้างแรกบรรจุ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ – ขั้นสูงของลูกจ้างทุกตำแหน่ง การปรับปรุงสวัสดิการยกเว้นค่ารักษาพยาบาล และการปรับปรุงประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้เท่านั้น หาได้มีมติให้การปรับขึ้นอัตราเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจไม่ กรณีเช่นนี้จึงไม่ใช่การปรับเพดานหรือฐานเงินเดือนดังที่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกอุทธรณ์ โรงงานยาสูบโดยคณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบจึงไม่อาจอ้างมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมามีมติและคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกเป็นกรณีพิเศษ คนละ 1 ขั้นได้ การเลื่อนขั้นเงินเดือนของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกต้องตกอยู่ภายใต้ระเบียบโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานยาสูบ พ.ศ.2520 ซึ่งตามข้อ 3 ข้อ 6 ข้อ 11 และข้อ 13 กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งสรุปได้ว่า การเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีให้เลื่อนตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนแรกของปีที่ได้เลื่อน อันได้แก่วันที่ 1 ตุลาคมของปีงบประมาณภายใต้วงเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนที่ได้รับอนุมัติไว้ในแต่ละปีโดยปกติให้สั่งเลื่อนได้ปีละหนึ่งขั้นทั้งการเลื่อนขั้นเงินเดือนของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกตามฟ้องก็มิใช่การเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษตามข้อ 14 ถึงข้อ 16 ดังนั้น คำสั่งที่ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนโจทก์ทั้งแปดร้อยหกคนละ 1 ขั้น ให้มีผลในวันที่ 7 เมษายน 2547 จึงขัดต่อระเบียบดังกล่าว ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ แม้คณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบจะมีคำสั่งให้ปรับเงินเดือนของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกไปแล้วอันอาจมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกมากกว่าก็ตาม แต่สภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยพลการนั้นต้องเป็นสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นโดยชอบเท่านั้น เมื่อคณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบมีมติและคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกโดยไม่ชอบตามระเบียบข้างต้น โจทก์ทั้งแปดร้อยหกจึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นย่อมไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณดังที่ได้อุทธรณ์ไว้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งแปดร้อยหกมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน