คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8686/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3148/2545 กับคดีนี้มีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ส. เป็นเจ้าของรวมหรือมีกรรมสิทธิ์รวมในห้องแถวเลขที่ 1383/32 และเลขที่ 1379/1 – 2 หรือไม่ คดีทั้งสองจึงเป็นประเด็นอย่างเดียวกัน แม้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 มีใจความสำคัญเพียงว่าในศาลเดียวกันห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โดยมิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าจะต้องเป็นคู่ความรายเดียวกันด้วยก็ตาม แต่ก็ต้องมีความหมายว่าคู่ความที่ฟ้องร้องกันจะต้องเป็นคู่ความรายเดียวกันหรือเป็นบุคคลที่สืบสิทธิในการฟ้องร้องและดำเนินคดีมาจากคู่ความเดิมด้วยแล้วแต่กรณี เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. และ ว. ตามลำดับ คดีทั้งสองจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในศาลเดียวกัน ย่อมต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์สินให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 619,228,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 50,000 บาท แทนจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความนำสืบรับโดยไม่โต้แย้งกันฟังยุติว่า โจทก์เป็นหลานและบุตรบุญธรรมของนายสุมน ส่วนจำเลยทั้งสองกับนางวรรณีเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน เมื่อปี 2504 นางวรรณีจดทะเบียนรับรองฐานะของภริยากับนายสุมน ต่อมาปี 2515 บุคคลทั้งสองหย่ากันตามทะเบียนการหย่า ในการจดทะเบียนการหย่า นางวรรณีและนายสุมนทำหนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินและแบ่งกันตามหนังสือหย่า และหนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ หนังสือหย่านำไปจดทะเบียนพร้อมทะเบียนหย่า นางวรรณีไม่มีบุตรและได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2539 ตามมรณบัตร ขณะถึงแก่ความตาย นางวรรณีมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินที่สะพานควาย กรุงเทพมหานคร และที่บางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี และมีทรัพย์เป็นสังหาริมทรัพย์ฝากเก็บไว้ในตู้นิรภัยของธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอให้ตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางวรรณี ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4716/2543 ของศาลชั้นต้น โดยนายสุมนยื่นคำคัดค้านและขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของนางวรรณี ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยว่า ขณะนางวรรณีเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย นายสุมนมิใช่สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางวรรณีจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนางวรรณี และแต่งตั้งให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางวรรณี ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกา ต่อมาจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางวรรณีฟ้องขับไล่นายสุมนออกจากตึกแถวเลขที่ 1383/32 ตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ 89810 ตำบลสามเสนใน อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร และตึกแถว เลขที่ 1379/1 – 2 ตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ 13713 ตำบลสามเสนใน อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร ต่อศาลชั้นต้น ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8088/2543 หมายเลขแดงที่ 3148/2545 นายสุมนให้การต่อสู้ว่า ตนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ห้องแถวเลขที่ 1383/32 ตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ 89810 ตำบลสามเสนใน อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร เป็นทรัพย์สินที่นางวรรณีกับนายสุมนได้มาในขณะอยู่กินเป็นสามีภริยากัน นายสุมนจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางวรรณี จำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่นายสุมน ส่วนห้องแถวเลขที่ 1379/1 – 2 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 13713 นายสุมนได้สละกรรมสิทธิ์ให้แก่นางวรรณีแล้ว นายสุมนจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ พิพากษาให้นายสุมนและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากห้องแถวเลขที่ 1379/1 – 2 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร นายสุมนไม่อุทธรณ์ คงมีแต่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2548 นายสุมนถึงแก่ความตายตามใบมรณบัตร
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อ 3 ว่า ในคดีนี้ในส่วนการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับห้องแถวเลขที่ 1383/32 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 89810 และห้องแถวเลขที่ 1379/1 – 2 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 13713 ตำบลสามเสนใน อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3148/2545 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ และข้อ 4 ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกของนางวรรณีตามฟ้องในส่วนที่นอกเหนือจากตึกแถวเลขที่ 1383/32 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 89810 ตำบลสามเสนใน อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร และตึกแถวเลขที่ 1379/1 – 2 ตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ 13713 ตำบลสามเสนใน อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร จากจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ เพียงใด ปัญหาต้องวินิจฉัยตามข้อ 3 โจทก์โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 2 ประการ คือ ประการแรกว่า คดีทั้งสองหาใช่เป็นประเด็นอย่างเดียวกันอันจะมีผลให้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำนั้น เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3148/2545 กับคดีนี้มีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า นายสุมนเป็นเจ้าของรวมหรือมีกรรมสิทธิ์รวมในห้องแถวเลขที่ 1383/32 และเลขที่ 1379/1 – 2 หรือไม่ คดีทั้งสองจึงเป็นประเด็นอย่างเดียวกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 บัญญัติว่า “เมื่อศาลใดมีคำพิพากษา หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น อันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น…” จะเห็นได้ว่า กระบวนพิจารณาเพื่อพิสูจน์ว่านายสุมนเป็นเจ้าของรวมหรือมีกรรมสิทธิ์รวมในตึกแถวห้องเลขที่ 1383/32 และเลขที่ 1379/1 – 2 หรือไม่ ย่อมซ้ำกัน ต้องห้ามตามมาตรานี้ ประการที่สองว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำนั้นคู่ความในสองคดีนั้นต้องเป็นคู่ความเดียวกันด้วยนั้น เห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ดังกล่าวมานั้น มีใจความสำคัญเพียงว่า ในศาลเดียวกันห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โดยมิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าจะต้องเป็นคู่ความรายเดียวกันด้วยก็ตาม แต่ก็ต้องมีความหมายว่าคู่ความที่ฟ้องร้องกันจะต้องเป็นคู่ความรายเดียวกันหรือเป็นบุคคลที่สืบสิทธิในการฟ้องร้องและดำเนินคดีมาจากคู่ความเดิมด้วยแล้วแต่กรณี เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นผู้สืบสิทธิจากนายสุมนและนางวรรณีตามลำดับ คดีทั้งสองจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในศาลเดียวกัน ย่อมต้องห้ามตามมาตราดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยทั้งสอง จำนวน 50,000 บาท

Share