คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่มีบทบัญญัติกำหนดให้สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือเตือนผู้ประกันตนที่ผิดนัดชำระเงินสมทบเสียก่อนจึงจะถือว่าขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ประกันตามมาตรา 39
โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 39 ไม่สามารถส่งเงินสมทบเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกันไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ย่อมมีผลให้สถานะความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์สิ้นสุดลงทันทีตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 41 (4) เนื่องจากไม่มีบทกฎหมายกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีรายได้จะส่งเงินสมทบยังคงรักษาสถานะความเป็นผู้ประกันตนต่อไปได้ เพราะความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เป็นเรื่องความสมัครใจของผู้ประกันตนที่จะส่งเงินสมทบ อีกทั้งไม่เป็นธรรมที่รัฐจะต้องนำเงินภาษีอากรของประชาชนมาจ่ายเงินสมทบเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนที่ผิดข้อตกลงหรือผิดหน้าที่ส่งเงินสมทบ
ส่วนเรื่องที่รัฐจะนิรโทษกรรมการผิดข้อตกลงไม่จ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนและให้ถือว่าไม่ขาดจากการเป็นผู้ประกันตนหรือยินยอมให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนต่อไปได้ ก็เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับผลทางกฎหมายของมาตรา 41 และเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องใช้อำนาจตรากฎหมายขึ้นมาอีกส่วนหนึ่งซึ่งขณะนี้ยังไม่มี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 2928/2555 และให้จำเลยรับโจทก์เป็นผู้ประกันตามมาตรา 39 ต่อเนื่องจากเดิม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 39 ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2554 ต่อมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 ถึงเดือนกรกฎาคม 2555 โจทก์ขาดส่งเงินสมทบเป็นเวลาสามเดือนติดต่อกัน สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 12 จึงมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 โจทก์ยื่นอุทธรณ์อ้างว่า โจทก์ไม่มีงานทำจึงไม่มีรายได้มาจ่ายเงินสมทบในช่วงเวลาดังกล่าว และโจทก์ไม่ได้รับหนังสือเตือนจากสำนักงานประกันสังคม คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีมติให้ยกอุทธรณ์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์สิ้นสุดลงหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสุดลงเมื่อผู้ประกันตนนั้น… (4) ไม่ส่งเงินสมทบสามเดือนติดต่อกัน วรรคสองบัญญัติว่า การสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตาม (4) สิ้นสุดลงตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ ดังนั้นเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบเป็นเวลาสามเดือนติดต่อกันย่อมมีผลตามกฎหมายทันทีให้สถานะความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และกรณีดังกล่าวกฎหมายมิได้กำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีรายได้จะส่งเงินสมทบเพราะไม่มีงานทำยังสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้ประกันตนต่อไปได้ เพราะการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เป็นเรื่องของความสมัครใจของผู้ประกันตนที่สามารถส่งเงินสมทบได้ มิใช่บทบังคับเช่นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เมื่อผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ไม่สามารถส่งเงินสมทบได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดย่อมไม่เป็นธรรมที่รัฐจะต้องนำเงินภาษีอากรของประชาชนมาจ่ายเงินสมทบเพื่อประโยชน์ของผู้ที่ผิดข้อตกลงหรือผิดหน้าที่ในการส่งเงินสมทบเช่นนี้ นอกจากนั้นพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมต้องมีหนังสือเตือนให้ผู้ประกันตนที่ผิดนัดชำระหนี้เสียก่อนจึงจะถือว่าขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ส่วนการที่รัฐจะนิรโทษการผิดข้อตกลงไม่จ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนและให้ถือว่าไม่ขาดจากการเป็นผู้ประกันตนหรือยินยอมให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนต่อไปได้ ก็เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับผลทางกฎหมายของมาตรา 41 และเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องใช้อำนาจตรากฎหมายขึ้นมาอีกส่วนหนึ่งซึ่งขณะนี้ยังไม่มี ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share