คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9277/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีก่อน ส.ฟ้องทายาทของร้อยตำรวจโท ค. เพื่อขอแบ่งปันทรัพย์มรดก และมีการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ ส่วนวิธีการแบ่งปันทรัพย์มรดกจะถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความกันหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่คู่ความในคดีดังกล่าวต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี หาใช่นำมาฟ้องเป็นคดีใหม่ เมื่อการประมูลทรัพย์มรดกเป็นการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิม หากไม่ถูกต้องโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของ ส. ต้องไปโต้แย้งในชั้นบังคับคดีในคดีดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเป็นคดีใหม่ ฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกตามสัญญาแบ่งมรดกจึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีก ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ที่โจทก์อ้างว่ายังมีทรัพย์มรดกอื่นที่ไม่ได้ตกลงกันในสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกนั้นด้วย กองมรดกที่ตกทอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600, 1602 ถือเป็นการได้ทรัพย์มาโดยอาศัยสิทธิอันเดียวกัน มิใช่เป็นการได้มาโดยอาศัยสิทธิในทรัพย์แต่ละชิ้นเป็นสิทธิต่างรายกัน ประเด็นที่วินิจฉัยจึงอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์ในส่วนดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ด้วยเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนการประมูลทรัพย์สินระหว่างทายาทในกองมรดกของร้อยตำรวจโทครุฑและนางยุพิน ครั้งที่ 2 ฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2529 และพิพากษาว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์มรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 20387-20388/2528 ของศาลชั้นต้นยังเป็นทรัพย์มรดกร้อยตำรวจโทครุฑและนางยุพิน ให้จำเลยทั้งเก้าแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ทายาทตามคำพิพากษาดังกล่าว หากไม่สามารถแบ่งได้ให้ร่วมกันชำระเงินจำนวน 80,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปเพื่อโจทก์จะนำไปแบ่งปันให้แก่ทายาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของร้อยตำรวจโทครุฑแบ่งปันเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาลำปาง บัญชีเลขที่ 502-1-03312-5 ให้แก่ทายาท และให้กำจัดมิให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับมรดกในส่วนที่ยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาตต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยที่ 4 เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้เรียกจำเลยที่ 4 เช่นเดิม
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางเบ็ญจพร ทายาทนางประไพศรี เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้เรียกจำเลยร่วมเป็นจำเลยที่ 9
จำเลยที่ 9 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่านายสุพงษ์ บิดาโจทก์เคยยื่นฟ้องบุคคลต่างๆ ที่เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของร้อยตำรวจโทครุฑหรือครุฑ เพื่อขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของร้อยตำรวจโทครุฑต่อมาบรรดาทายาทมีการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 20387-20388/2528 และมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของร้อยตำรวจโทครุฑไปแล้ว โดยในระหว่างที่มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2529 นายสุพงษ์ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และวันที่ 8 มกราคม 2530 ศาลพิพากษาให้นายสุพงษ์เป็นบุคคลล้มละลายตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล. 206/2529 ของศาลชั้นต้น ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าวมีมติให้รับเงินจำนวน 3,000,000 บาท จากกองมรดกของร้อยตำรวจโทครุฑทดแทนส่วนที่เป็นมรดกตกทอดของนายสุพงษ์ตามคำแถลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2538 นายสุพงษ์ได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าว ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยศาลฎีกาให้ยกคำร้องของนายสุพงษ์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบุคคลอื่นนอกจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ วันที่ 12 พฤษภาคม 2542 นายสุพงษ์ถึงแก่ความตาย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 20387-20388/2528 นายสุพงษ์ฟ้องทายาทของร้อยตำรวจโทครุฑเพื่อขอแบ่งปันทรัพย์มรดก และได้มีการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคดีดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความที่ได้มีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ส่วนวิธีการแบ่งปันทรัพย์มรดกจะถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่คู่ความในคดีดังกล่าวต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นของการบังคับคดีหาใช่นำมาฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ เมื่อการประมูลทรัพย์มรดกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2529 เป็นการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิม หากไม่ถูกต้องเช่นใดโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของนายสุพงษ์จึงต้องไปโต้แย้งในชั้นบังคับคดีในคดีดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจนำมาฟ้องเป็นคดีใหม่ ดังนั้น ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีก ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่โจทก์อ้างว่า ในคดีเดิมนั้นศาลยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นว่าได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่ทายาทครบถ้วนแล้วหรือไม่นั้น จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์อีกประการว่า ยังมีทรัพย์สินที่อยู่นอกสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกยังไม่ได้แบ่งให้แก่โจทก์และทายาทอื่น การแบ่งทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้นและครบถ้วน หากนายสุพงษ์ ยังไม่ได้รับมรดกครบถ้วนจากการแบ่งทรัพย์มรดกแล้ว โจทก์ก็ขอสืบสิทธิที่จะเรียกร้องเอากับจำเลยทั้งเก้าได้นั้น เห็นว่า คดีก่อนนายสุพงษ์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกและมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความจนคดีถึงที่สุดดังข้อวินิจฉัยข้างต้น คดีนี้การที่โจทก์อ้างว่ายังมีทรัพย์มรดกอื่นที่ไม่ได้ตกลงกันในสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวอีกนั้น กองมรดกที่ตกทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600, 1602 ถือเป็นการได้ทรัพย์มาโดยอาศัยสิทธิอันเดียวกันไม่ว่าจะเป็นทรัพย์กี่ชิ้นก็ตาม มิใช่เป็นการได้มาโดยอาศัยสิทธิในทรัพย์แต่ละชิ้นเป็นสิทธิต่างรายกัน ประเด็นที่วินิจฉัยจึงอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน มิใช่ต่างกันตามทรัพย์แต่ละชิ้นแต่ละราย ดังนั้น แม้ฟ้องของโจทก์จะเป็นทรัพย์มรดกที่อยู่นอกสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share