คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4107/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 74 วรรคสอง แล้ว แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะยื่นอุทธรณ์ฉบับใหม่ แต่เนื้อหาของคำอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวเป็นเพียงการเพิ่มเติมรายละเอียดของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และข้อเท็จจริงอื่นซึ่งได้มีการกล่าวอ้างมาแต่ในชั้นพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้น ซึ่งอุทธรณ์ฉบับเดิมก็ได้มีการกล่าวไว้แล้วเพียงแต่ไม่มีการยกข้อความซึ่งอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไว้หรือข้อความในสัญญาขึ้นกล่าวอ้างไว้ในอุทธรณ์ เพียงแต่อ้างว่ามีรายละเอียดปรากฏอยู่ในหน้าใดของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรืออยู่ในสัญญาข้อใดตามเอกสารที่แนบท้ายมาเท่านั้น อุทธรณ์ฉบับใหม่จึงไม่ใช่การเพิ่มเติมเนื้อหาสาระสำคัญหรือข้อเท็จจริงเข้ามาใหม่ต่างจากอุทธรณ์ฉบับเดิม แต่เป็นการเพิ่มรายละเอียดในอุทธรณ์ฉบับเดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงชอบที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะรับอุทธรณ์ฉบับใหม่ของจำเลยที่ 1 ไว้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับเดิมของจำเลยที่ 1 ได้
ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้รับอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วต้องแจ้งให้ผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิยื่นคำชี้แจงหรือคำคัดค้าน คงมีแต่ในชั้นพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่กฎหมายบัญญัติว่า เมื่อได้รับคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาต ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหนังสือแจ้งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาตแล้วแต่กรณีทราบเพื่อยื่นคำชี้แจงภายในกำหนดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 74 วรรคสอง ที่ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาตทราบเพื่อยื่นคำคัดค้าน จึงถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาอุทธรณ์จำเลยที่ 1 โดยผิดระเบียบหรือผิดกฎหมาย
เมื่อโจทก์ยื่นคำคัดค้านโต้แย้งอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็ได้นำข้อเท็จจริงในคำโต้แย้งคัดค้านของโจทก์มาพิจารณาด้วย ทั้งไม่มีบทบัญญัติตามระเบียบข้อบังคับหรือตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่กำหนดให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องวินิจฉัยตามคำโต้แย้งคัดค้านอุทธรณ์ทุกประเด็น การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และคำโต้แย้งคัดค้านของโจทก์เฉพาะประเด็นสำคัญ ถือว่าการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแสดงให้เห็นว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการฉบับที่ 1 สิ้นสุดลงโดยการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้อนุญาตแล้ว ส่วนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิโดยชอบในการบอกเลิกสัญญาแล้ว แต่เนื่องจากมีการนำไปจดทะเบียนและยังไม่ได้รับการเพิกถอนจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า อนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบที่จะวินิจฉัยว่า สัญญาดังกล่าวเลิกกันแล้ว เนื่องจากจะกระทบกระเทือนถึงอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าแสดงได้ว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 2 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้สิ้นสุดลงแล้ว ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 72

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 107/2552 ถึง 133/2552 และเพิกถอนคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารวม 27 คำขอ
จำเลยทั้งสิบสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาอนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ “TSUTAYA” ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 นำสัญญาไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน เนื่องจากมีการยื่นคำร้องใหม่และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาอนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ “TSUTAYA” ฉบับที่ 2 และนำสัญญามาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารวม 27 คำขอ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งรับจดทะเบียน ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้เพิกถอนการจดทะเบียนสัญญา โดยอ้างว่าโจทก์ค้างชำระค่าสิทธิและเบี้ยปรับอันเป็นการผิดสัญญา จำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ และในการบอกเลิกสัญญาโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้นำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งหอการค้าระหว่างประเทศเป็นคดีเลขที่ 13197/เอ็มเอส/เจอีเอ็น ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาด ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่เพิกถอนการจดทะเบียนโดยให้เหตุผลว่า ไม่มีคำวินิจฉัยไว้ ณ ที่ใดในคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการที่โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิ้นสุดลงโดยการบอกเลิกสัญญา จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิไม่อาจแสดงให้เห็นได้ว่า สัญญาที่ร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้สิ้นสุดลงแล้ว ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 72 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งอยู่ภายในกำหนด 90 วัน นับแต่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่ภายหลังจำเลยที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์หลังครบกำหนด 90 วัน ดังกล่าวอีก 1 ฉบับ ต่อมาคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการที่จำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิ้นสุดแล้วและให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาต่อไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การดำเนินการของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ฉบับใหม่เกินกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและอุทธรณ์ฉบับใหม่เป็นแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสาระสำคัญเป็นการยื่นและใช้แทนอุทธรณ์ฉบับเดิมขัดต่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 74 วรรคสอง และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โดยพิจารณาจากคำอุทธรณ์ซึ่งยื่นเกินกำหนด 90 วัน ดังกล่าว คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงเป็นเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่า เดิมจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งอยู่ภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 74 วรรคสอง แล้ว แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะยื่นอุทธรณ์ฉบับใหม่ แต่เนื้อหาของคำอุทธรณ์ฉบับใหม่เป็นเพียงการเพิ่มเติมรายละเอียดของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและข้อเท็จจริงอื่นซึ่งได้มีการกล่าวอ้างมาแต่ในชั้นพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้น เช่น มีการเพิ่มรายละเอียดโดยสรุปคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้งสิบประเด็นไว้ ซึ่งคำชี้ขาดจำเลยที่ 1 ก็ได้เสนอนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อพิจารณามาแต่ต้นแล้ว ส่วนการเพิ่มเติมข้ออื่นๆ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันคือ เป็นการยกข้อความที่อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยไว้ในคำชี้ขาดหรือข้อความในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการทั้งสองฉบับมากล่าวถึงนั่นเอง ซึ่งอุทธรณ์ฉบับเดิมก็ได้มีการกล่าวไว้แล้ว เพียงแต่ไม่มีการยกข้อความซึ่งอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไว้หรือข้อความในสัญญาขึ้นกล่าวอ้างไว้ในอุทธรณ์ เพียงแต่อ้างว่ามีรายละเอียดปรากฏอยู่ในหน้าใดของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรืออยู่ในสัญญาข้อใดตามเอกสารที่แนบท้ายมาเท่านั้น อุทธรณ์ฉบับใหม่จึงไม่ใช่การเพิ่มเติมเนื้อหาสาระสำคัญหรือข้อเท็จจริงเข้ามาใหม่ต่างจากอุทธรณ์ฉบับเดิม แต่เป็นการเพิ่มรายละเอียดในอุทธรณ์ฉบับเดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงชอบที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะรับอุทธรณ์ฉบับใหม่ของจำเลยที่ 1 ไว้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับเดิมของจำเลยที่ 1 ได้ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงหรือคำคัดค้านจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่ชอบด้วยกฎหมายและเมื่อโจทก์ยื่นคำคัดค้านอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ากลับไม่ได้พิจารณาคำคัดค้านของโจทก์นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดว่าเมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้รับอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว จะต้องแจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิยื่นคำชี้แจงหรือคำคัดค้านแต่อย่างใด คงมีแต่ในชั้นพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่บัญญัติว่า เมื่อได้รับคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาต ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหนังสือแจ้งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาต แล้วแต่กรณีทราบเพื่อยื่นคำชี้แจงภายในกำหนดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 74 วรรคสอง ที่ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาตทราบเพื่อยื่นคำคัดด้าน จึงถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โดยผิดระเบียบหรือผิดกฎหมาย ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ได้นำคำโต้แย้งคัดค้านของโจทก์มาประกอบการพิจารณา คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจากคำอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว เป็นการขัดต่อหลักการรับฟังความสองฝ่าย จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำคัดค้านโต้แย้งอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็ได้นำข้อเท็จจริงในคำโต้แย้งคัดค้านของโจทก์มาพิจารณาด้วยเช่นกัน เช่น ประเด็นที่ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 มีส่วนผิดสัญญาด้วย การบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ทั้งยังไม่มีบทบัญญัติตามระเบียบข้อบังคับหรือตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่กำหนดให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องวินิจฉัยตามคำโต้แย้งคัดค้านอุทธรณ์ทุกประเด็น ดังนั้นการที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และคำโต้แย้งคัดค้านของโจทก์เฉพาะประเด็นสำคัญ จึงถือว่าการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อมาว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายหมายค้าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ อนุญาโตตุลาการซึ่งชี้ขาดประเด็นว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการเลิกกันแล้วหรือไม่ โดยวินิจฉัยว่า การที่ผู้เรียกร้อง (จำเลยที่ 1) ยื่นขอเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการฉบับที่ 2 ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมาย แม้การบอกเลิกสัญญาจะเป็นไปตามวิธีที่กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการฉบับที่ 2 ตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นก็ตาม การบอกเลิกสัญญายังมิอาจมีผลใช้บังคับได้ในประเทศไทย เพราะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไทยยังไม่ยินยอมเพิกถอนการจดทะเบียน ทำให้ผู้คัดค้าน (โจทก์) ยังได้รับการรับรองจากการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ เช่นเดียวกับการบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา แต่เนื่องจากสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 1 ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 จึงไม่จำต้องให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นชอบด้วย ฉะนั้นการบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการฉบับที่ 1 จึงมีผลบังคับนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2547 อันเป็นวันที่ผู้เรียกร้อง (จำเลยที่ 1) ทำหนังสือบอกเลิกสัญญา อย่างไรก็ตามแม้การบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการฉบับที่ 1 จะมีผลบังคับได้ทันทีก็ตาม แต่ข้อ 19 (เอ) ของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 1 ซึ่งว่าด้วยพันธะหลังจากการบอกเลิกสัญญาก็ไม่อาจใช้บังคับได้ทันทีเพราะขัดกับการที่ผู้คัดค้าน (โจทก์) ยังมีสิทธิได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าและบริการตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 2 โดยชอบอยู่ตามทรรศนะของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไทย เมื่อเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่มีการอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสัญญาฉบับที่ 2 มิอาจอยู่ได้โดยตนเองเพราะต้องใช้กับสิ่งประกอบ…ซึ่งข้อ 19 (เอ) ของสัญญาฉบับที่ 1 กำหนดให้รื้อถอนทันทีที่มีการบอกเลิกสัญญา ดังนั้นคำสั่งของอนุญาโตตุลาการย่อมมีผลทำให้การระงับการใช้เครื่องหมายการค้าและบริการตามสัญญาฉบับที่ 2 ซึ่งยังได้รับการรับรองจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอยู่หรือเป็นการลบล้างคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไทยและหมิ่นเหม่ต่อการบ่อนทำลายอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ซึ่งจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแสดงให้เห็นว่า อนุญาโตตุลาการเห็นว่า สัญญาอนุญาตให้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 1 สิ้นสุดลงโดยการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้อนุญาตแล้ว ส่วนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 2 นั้น แม้จำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิโดยชอบในการบอกเลิกสัญญาแล้ว แต่เนื่องจากมีการนำไปจดทะเบียนและยังไม่ได้รับการเพิกถอนจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า อนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบที่จะวินิจฉัยว่าสัญญาเลิกกันแล้ว เนื่องจากจะกระทบกระเทือนถึงอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งจากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าแสดงได้ว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 2 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้สิ้นสุดลงแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 72 ดังนั้นคำชี้ขาดของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่วินิจฉัยว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงนั้น เป็นคำวินิจฉัยโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุดแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 74 วรรคสาม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share