คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8749/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง ล้มละลาย ++
++ (ชั้นคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ++
++ ทดสอบการทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++ ย่อข้อกฎหมายอย่างไม่เป็นทางการ – ขอชุดตรวจได้ที่งานย่อข้อกฎหมายระบบ CW โถงกลางชั้น 3 ++
++
++
++ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำสั่งของผู้คัดค้านที่สั่งคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ฉบับลงวันที่ 9มิถุนายน 2540 เป็นคำสั่งที่สมบูรณ์มีผลบังคับแล้วหรือไม่
++
++ ศาลฎีกาเห็นว่า ในคำร้องดังกล่าว (เอกสารหมาย ร.1) ปรากฏว่า นางอุษณีย์ อยู่แย้ม เกษียนสั่งเป็นคนแรกว่า หากผู้ซื้อทรัพย์ไม่วางเงินภายในวันดังกล่าว ถือว่าผู้ซื้อทรัพย์ผิดนัด ให้ริบเงินมัดจำจำนวน 2,145,000 บาท ประกาศขายทอดตลาดใหม่
++ ต่อมานางกรองกาญจน์สถิตมิลินทากาศ สั่งว่า ถือว่าผู้ซื้อทรัพย์ผิดนัดให้ริบเงินมัดจำ และประกาศขายทอดตลาดต่อไป และนางกรองกาญจน์ยังได้เขียนบันทึกต่อไปว่า ขอประทานเสนอ ท่านอธิบดีเพื่อโปรดทราบ
++ นอกจากเกษียนสั่งของนางอุษณีย์และนางกรองกาญจน์ดังกล่าวแล้วในคำร้องดังกล่าวยังปรากฏอีกว่า นายสำเร็จ บุษยากรณ์ รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดี กรมบังคับคดี ได้ลงลายมือชื่อรับทราบ พร้อมกับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2540ไว้ด้วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า อธิบดีกรมบังคับคดีเห็นด้วยกับคำสั่งของนางอุษณีย์และนางกรองกาญจน์แล้ว
++ คำสั่งของผู้คัดค้านที่สั่งคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระเงินของผู้ซื้อทรัพย์ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2540 จึงสมบูรณ์และมีผลว่าหากผู้ซื้อทรัพย์ไม่วางเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่ขาดในวันดังกล่าว ต้องริบเงินมัดจำจำนวน 2,145,000 บาท ที่ผู้ซื้อทรัพย์วางไว้และประกาศขายทอดตลาดใหม่อันเป็นการยืนยันให้ผู้ซื้อทรัพย์ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นซึ่งได้ขยายระยะเวลาวางเงินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ คำสั่งของผู้คัดค้านส่วนนี้ชอบแล้ว
++ แต่คดีนี้ ผู้ซื้อทรัพย์กลับยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2540 ขอความเป็นธรรมและขอให้ผู้คัดค้านทบทวนคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอให้ขยายระยะเวลาชำระเงินใหม่ ซึ่งเท่ากับผู้ซื้อทรัพย์ขอให้ผู้คัดค้านมีคำสั่งขยายระยะเวลาชำระเงินออกไปอีก และผู้คัดค้านมีคำสั่งให้รอฟังผลการรังวัดสอบเขตจากเจ้าพนักงานที่ดินก่อน จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า คำสั่งของผู้คัดค้านดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
++ ศาลฎีกาเห็นว่า การขอขยายเวลาชำระเงินดังกล่าวเป็นการขอขยายระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ อำนาจที่จะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปจึงเป็นอำนาจของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 153 การที่ผู้คัดค้านสั่งให้รอฟังผลการรังวัดสอบเขตจากเจ้าพนักงานที่ดินก่อน ซึ่งมีผลเป็นการขยายระยะเวลาชำระเงินที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ออกไป ไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้คัดค้านกระทำได้ จึงเป็นการไม่ชอบ ++

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ต่อมาวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๓๓ ผู้ซื้อทรัพย์ซื้อที่ดินของจำเลยตามบัญชีทรัพย์ หมาย ก.จำนวน๔๑ โฉนด และหมาย ข. จำนวน ๑ โฉนด จากการขายทอดตลาดในราคารวม๔๒,๙๐๐,๐๐๐ บาท และได้วางเงินมัดจำไว้ ๒,๑๔๕,๐๐๐ บาท แต่มีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดและศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๙หลังจากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (ผู้คัดค้าน) แจ้งให้ผู้ซื้อทรัพย์นำเงินส่วนที่เหลือจำนวน ๔๐,๗๕๕,๐๐๐ บาท ไปชำระ ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอขยายเวลาวางเงินออกไปอีก ๖๐ วัน แต่ผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ยกคำร้องเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์๒๕๔๐ ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านและอนุญาตให้ผู้ซื้อทรัพย์นำเงินมาชำระภายใน ๖๐ วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ ๘ เมษายน๒๕๔๐ ว่า อนุญาตให้ผู้ซื้อทรัพย์นำเงินที่เหลือจำนวน ๔๐,๗๕๕,๐๐๐ บาท ไปชำระแก่ผู้คัดค้านที่กรมบังคับคดีภายใน ๖๐ วัน หากผิดนัดให้ริบมัดจำจำนวน ๒,๑๔๕,๐๐๐บาท ต่อมาวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปก่อนเนื่องจากอยู่ในระหว่างดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินที่ซื้อได้ผู้คัดค้านมีคำสั่งว่าผู้ซื้อทรัพย์ผิดนัด ให้ริบเงินมัดจำและประกาศขายทอดตลาดใหม่วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๐ ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอให้ทบทวนคำสั่งขอขยายระยะเวลาการชำระเงินใหม่ ผู้คัดค้านมีคำสั่งว่า ให้รอฟังผลการรังวัดสอบเขตจากเจ้าพนักงานที่ดินก่อน
จำเลยยื่นคำร้องว่า คำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ฉบับลงวันที่ ๙ และ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๐ ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะขยายเวลาการชำระเงินและเป็นการประวิงคดี ทั้งหากไม่ขยายระยะเวลาการชำระเงินออกไปและประกาศขายทอดตลาดใหม่จะได้รับเงินจากการขายทอดตลาดสูงขึ้น อีกทั้งคำสั่งของรองอธิบดีกรมบังคับคดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี ที่สั่งในคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ฉบับลงวันที่ ๑๐มิถุนายน ๒๕๔๐ ไม่มีลักษณะเป็นการยกเลิกเพิกถอนคำสั่งเดิมของนางอุษณีย์ อยู่แย้มนางสาวฉวีวรรณ จิรสิทธิ์ และนางกรองกาญจน์ สถิตมิลินทากาศ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี แม้จะเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว แต่ก็ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะสั่งยกเลิกคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ได้สั่งการไว้โดยชอบ ขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านดำเนินการยกเลิกเพิกถอนการขยายเวลาชำระเงินส่วนที่เหลือของผู้ซื้อทรัพย์ และริบเงินมัดจำกับดำเนินการขายทอดตลาดใหม่
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามลำดับชั้นเป็นเพียงความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาเท่านั้น คำสั่งของรองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี จึงเป็นคำสั่งที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า คำสั่งของรองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดีเป็นคำสั่งที่ถูกต้องตามระเบียบและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำสั่งของผู้คัดค้านที่สั่งคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ฉบับลงวันที่ ๙มิถุนายน ๒๕๔๐ เป็นคำสั่งที่สมบูรณ์มีผลบังคับแล้วหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ในคำร้องดังกล่าว (เอกสารหมาย ร.๑) ปรากฏว่า นางอุษณีย์ อยู่แย้ม เกษียนสั่งเป็นคนแรกว่า หากผู้ซื้อทรัพย์ไม่วางเงินภายในวันดังกล่าว ถือว่าผู้ซื้อทรัพย์ผิดนัด ให้ริบเงินมัดจำจำนวน ๒,๑๔๕,๐๐๐ บาท ประกาศขายทอดตลาดใหม่ ต่อมานางกรองกาญจน์สถิตมิลินทากาศ สั่งว่า ถือว่าผู้ซื้อทรัพย์ผิดนัดให้ริบเงินมัดจำ และประกาศขายทอดตลาดต่อไป และนางกรองกาญจน์ยังได้เขียนบันทึกต่อไปว่า ขอประทานเสนอ ท่านอธิบดีเพื่อโปรดทราบ นอกจากเกษียนสั่งของนางอุษณีย์และนางกรองกาญจน์ดังกล่าวแล้วในคำร้องดังกล่าวยังปรากฏอีกว่า นายสำเร็จ บุษยากรณ์ รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดี กรมบังคับคดี ได้ลงลายมือชื่อรับทราบ พร้อมกับลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ไว้ด้วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า อธิบดีกรมบังคับคดีเห็นด้วยกับคำสั่งของนางอุษณีย์และนางกรองกาญจน์แล้ว คำสั่งของผู้คัดค้านที่สั่งคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระเงินของผู้ซื้อทรัพย์ฉบับลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ จึงสมบูรณ์และมีผลว่าหากผู้ซื้อทรัพย์ไม่วางเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่ขาดในวันดังกล่าว ต้องริบเงินมัดจำจำนวน ๒,๑๔๕,๐๐๐ บาท ที่ผู้ซื้อทรัพย์วางไว้และประกาศขายทอดตลาดใหม่อันเป็นการยืนยันให้ผู้ซื้อทรัพย์ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นซึ่งได้ขยายระยะเวลาวางเงินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ คำสั่งของผู้คัดค้านส่วนนี้ชอบแล้ว แต่คดีนี้ผู้ซื้อทรัพย์กลับยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๐ ขอความเป็นธรรมและขอให้ผู้คัดค้านทบทวนคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอให้ขยายระยะเวลาชำระเงินใหม่ ซึ่งเท่ากับผู้ซื้อทรัพย์ขอให้ผู้คัดค้านมีคำสั่งขยายระยะเวลาชำระเงินออกไปอีก และผู้คัดค้านมีคำสั่งให้รอฟังผลการรังวัดสอบเขตจากเจ้าพนักงานที่ดินก่อน จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า คำสั่งของผู้คัดค้านดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การขอขยายเวลาชำระเงินดังกล่าวเป็นการขอขยายระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ อำนาจที่จะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปจึงเป็นอำนาจของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๕๓ การที่ผู้คัดค้านสั่งให้รอฟังผลการรังวัดสอบเขตจากเจ้าพนักงานที่ดินก่อน ซึ่งมีผลเป็นการขยายระยะเวลาชำระเงินที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ออกไป ไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้คัดค้านกระทำได้ จึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษากลับ ให้ริบเงินมัดจำ และให้ผู้คัดค้านดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ กับเพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่ให้รอฟังผลการรังวัดสอบเขตจากเจ้าพนักงานที่ดินก่อน.

Share