แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุ 18 ปี 11 เดือน ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นคุณตาม ป.อ. มาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 จึงไม่ต้องห้ามมิให้นำโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมาบังคับใช้แก่จำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2545 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิง ส. อายุ 13 ปีเศษ ผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยทั้งห้า โดยจำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายดึงแขน จับตัวผู้เสียหายนอนลงกับพื้นใช้มือปิดปากจับแขนและขา ถอดเสื้อและกางเกงออก จับหน้าอกและจูบปากของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายไม่ยินยอม แต่ตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วจำเลยทั้งห้าผลัดเปลี่ยนกันกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและโดยเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 277 และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1978/2545 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 83 จำคุกตลอดชีวิต คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้ยกฟ้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยที่ 1 ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุไม่ถึง 18 ปี ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในลักษณะเดียวกับผู้ใหญ่เป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย สมควรใช้กฎหมายที่เป็นคุณในการลงโทษจำเลยที่ 1 เห็นว่า ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่แนบท้ายฎีกาของจำเลยที่ 1 ระบุว่าจำเลยที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2526 ส่วนคดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2545 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 จึงมีอายุ 18 ปี 11 เดือน หาใช่อายุ 17 ปีเศษดังฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นคุณตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 ที่บัญญัติมิให้นำโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมาบังคับใช้แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดขณะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อีกทั้งตามพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก เป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองและเป็นภัยต่อสังคม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจไม่ลดมาตราส่วนโทษและกำหนดโทษแก่จำเลยที่ 1 มานั้น จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.