แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความผิดฐานมีอาวุธปืน ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 8 เดือน และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน การที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับความผิดฐานนี้ขึ้นมาแม้จะต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่พอรับฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและไม่ปรากฏว่ามีการยึดอาวุธปืนได้จากจำเลยเป็นของกลาง ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกฟ้องในความผิดฐานนี้ได้ด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ทั้งตามมาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีอาวุธปืนออโตเมติก ขนาด .38 (ซุปเปอร์) 1 กระบอก ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนอาวุธปืนของนายทะเบียนและกระสุนปืนขนาดเดียวกันหลายนัดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และจำเลยพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปตามถนนในหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเมืองหมู่บ้านและทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวไปได้ และไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์แล้วจำเลยได้ใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวยิงนายองอาจ สุวรรณรัตน์ ผู้ตายหลายนัดโดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกบริเวณท้ายทอย ศีรษะ ปาก และแขนของผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในทันที ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 288, 371 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายจรัญ สุวรรณรัตน์ ผู้เสียหายซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายโดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 8 เดือน ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 20 ปี รวมจำคุก 20 ปี 8 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 72 ลงโทษจำคุก 7 ปี เมื่อรวมกับโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แล้วจำคุก 7 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้ตายถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงจนถึงแก่ความตาย คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมและจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่อยู่ในขณะเกิดเหตุมีนางสาวพรรณาเพียงผู้เดียว แต่คำเบิกความของนางสาวพรรณามิได้ยืนยันว่าผู้ใดเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย คงมีแต่คำให้การในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.3 ว่าผู้ตายกอดปล้ำนางสาวพรรณาจึงร้องตะโกนเสียงดังให้คนช่วยว่า ช่วยด้วย ช่วยด้วย แต่ผู้ตายก็ยังไม่ปล่อย ทันใดก็ได้ยินเสียงคล้ายบิดาของนางสาวพรรณาถามว่าอะไร ผู้ตายจึงปล่อยตัวแล้ววิ่งไปดูที่หน้าต่าง ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด นางสาวพรรณาตกใจและวิ่งลงไปข้างล่างแล้วไปแอบอยู่ข้างโอ่งน้ำหลังบ้าน หลังจากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีกหลายนัด พอเรื่องเงียบจึงออกมาจากที่ซ่อนวิ่งไปบ้านเพื่อนและบอกเพื่อนให้ไปส่งที่บ้านป้า ซึ่งในชั้นพิจารณานางสาวพรรณาคงเบิกความทำนองเดียวกัน แตกต่างเฉพาะเสียงตะโกนร้องถามมาจากนอกบ้านว่าไม่ทราบว่าเสียงนั้นเป็นเสียงใคร แต่จำได้ว่าเป็นเสียงผู้ชาย ได้ยินเสียงนั้นไม่ชัด จึงไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าเป็นเสียงของใคร พิจารณาแล้วขณะเกิดเหตุในบ้านจำเลยที่เกิดเหตุมีผู้ตายและนางสาวพรรณาอยู่เพียง 2 คน รอบ ๆ บ้านจำเลยมีญาติ ๆ อยู่ห่างประมาณ 30 เมตร หากนางสาวพรรณาชอบพอกับผู้ตายหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกันมาก่อนทั้งสองคนก็น่าจะอยู่กันเงียบ ๆ ไม่ต้องการให้ผู้อื่นรู้เห็น กรณีน่าจะเป็นตามคำให้การและคำเบิกความของนางสาวพรรณาว่านางสาวพรรณาถูกผู้ตายปลุกปล้ำจึงตะโกนร้องเรียกให้คนช่วย และเนื่องจากมีบ้านญาติของนางสาวพรรณาอยู่ใกล้ ๆ จึงมีเสียงคนร้องถาม และด้วยเหตุดังกล่าวผู้ตายจึงได้เดินไปที่หน้าต่าง ผู้ที่ร้องถามเห็นผู้ตายจึงได้ใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในบ้านตามที่ปรากฏว่ามีรอยกระสุนปืนบริเวณบานหน้าต่าง และมีหัวกระสุนปืนตกอยู่ภายในบ้าน เชื่อว่านางสาวพรรณาจะต้องขอความช่วยเหลือ มีผู้ได้ยินจึงมาที่บ้านจำเลยและร้องถาม เสียที่ร้องถามนั้น หากเป็นเสียงจำเลยนางสาวพรรณาและผู้ตายควรจะจำได้ เมื่อจำได้ ผู้ตายก็ควรจะรีบหลบหนี ไม่น่าที่จะเดินไปที่หน้าต่างเพื่อดูว่าเป็นเสียงผู้ใด และเมื่อมีการยิงเข้าไปในบ้านนางสาวพรรณาซึ่งอยู่ในภาวะที่ถูกผู้ตายปลุกปล้ำและตกใจก็ย่อมจะต้องวิ่งหลบหนีไปซุกซ่อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะไม่เห็นเหตุการณ์หลังจากนั้น และจากคำเบิกความของนายมนัส สงค์แก้ว เพื่อนผู้ตายว่าหลังเกิดเหตุนางสาวพรรณาไม่เชื่อว่าผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงได้ขับรถพานางสาวพรรณาไปที่งานศพ นางสาวพรรณาจึงเชื่อว่าผู้ตายถึงแก่ความตายจริง อาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตายก็เป็นอาวุธปืนคนละชนิดกับที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครอง ดังนั้นอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตายจึงไม่ใช่อาวุธปืนของจำเลย บุคคลที่ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือของนางสาวพรรณาแล้วไปยังที่เกิดเหตุและร้องถามกับเมื่อเห็นผู้ตายที่หน้าต่างชั้นบนของบ้านจึงใช้อาวุธปืนยิงนั้น อาจจะเป็นญาติซึ่งมีบ้านอยู่ข้าง ๆ บ้านของนางสาวพรรณาก็ได้ แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะมีนายไข่ แก้วนวล ญาติของจำเลยซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้กันและในวันเกิดเหตุนายไข่ทำไร่อยู่ห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร เบิกความว่า ในเวลา 17.30 นาฬิกา ขณะที่กำลังดายหญ้าอยู่ในไร่ มีชายคนหนึ่งใส่หมวกดำ ซึ่งนายไข่ไม่รู้จักมาบอกว่ามีการยิงกันตายที่บ้านของจำเลย ชายคนนั้นโยนกุญแจบ้านซึ่งนายไข่ไม่ทราบว่าเป็นบ้านของใครให้ และบอกให้ไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน เสร็จแล้วก็หันหลังกลับโดยที่ยังไม่ทันเห็นหน้าชายคนนั้น แต่ในคำให้การชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.4 นายไข่ได้ให้การว่า ขณะที่กำลังทำไร่ขิงอยู่เพียงคนเดียว จำเลยเดินไปหานำพวงกุญแจบ้านของจำเลยไปมอบให้แล้วบอกว่า “กูยิงคนตาย ศพอยู่ในบ้าน มึงไปแจ้งผู้ใหญ่บ้านด้วย” แล้วส่งกุญแจให้ ซึ่งแตกต่างกับที่นายไข่ได้เบิกความในชั้นพิจารณาที่อ้างว่าในชั้นสอบสวนไม่ได้ให้การระบุว่าเป็นจำเลย พยานปากนี้จึงยังหาข้อยุติมิได้ ส่วนพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนายเปลื้อง สงค์แก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 และดาบตำรวจวิโรจน์ กองลั่น ซึ่งไปในที่เกิดเหตุ ต่างเป็นพยานแวดล้อม มิได้เห็นเหตุการณ์ทั้งสิ้น หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วยังมีเหตุอันสมควรสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายหรือไม่ เห็นสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืน ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 8 เดือน และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน การที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับความผิดฐานนี้ขึ้นมาแม้จะต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่พอรับฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและไม่ปรากฏว่ามีการยึดอาวุธปืนได้จากจำเลยเป็นของกลาง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจที่จะยกฟ้องในความผิดฐานนี้ได้ด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกายังมิเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น สำหรับของกลางเป็นทรัพย์ที่คนร้ายใช้กระทำความผิด จึงต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1)”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ริบของกลาง.