คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2054/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แก่ผู้ซื้อเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2530 ก่อนการเคาะไม้เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาลชั้นต้นเพื่อมีคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ขายหรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขายได้เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเคาะไม้ขายไป ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน2530 จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขายทรัพย์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งงดการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวและประกาศขายทอดตลาดใหม่ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาลขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดนั้นเป็นวิธีการขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าการขายทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆโดยเฉพาะเพื่อให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเสียก่อนตามมาตรา296 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่จำเลยที่ 1มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว กลับยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทรัพย์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้วไม่ได้.

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 6,801,827.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปีแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้โจทก์บังคับจำนองเอาทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา มีการเลื่อนการขายทอดตลาดถึง 7 ครั้ง เพราะไม่มีผู้ประมูลซื้อบ้าง จำเลยขอเลื่อนบ้างได้ราคาต่ำเกินไปบ้าง จนถึงการขายทอดตลาดครั้งที่แปด เมื่อวันที่12 พฤศจิกายน 2530 เจ้าพนักงานบังคับคดีตกลงขายทรัพย์อันดับที่ 1ถึงที่ 5 แก่โจทก์เป็นเงิน 3,000,000 บาท และขายทรัพย์อันดับ 6.6 แก่นายสมพร สุระวรรณวิจิตร เป็นเงิน 110,000 บาทซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดทั้งสองรายจำเลยที่ 1 แถลงคัดค้านต่อศาลชั้นต้นว่าราคาที่ผู้ประมูลได้นั้นต่ำเกินไป หากมีการแยกขายทรัพย์สินแต่ละอันดับจะได้ราคามากกว่านี้ จำเลยที่ 1 ได้พยายามหาคนเข้าสู้ราคาแล้วแต่ยังดำเนินการไม่ทัน เพื่อบรรเทาความเสียหายขอให้ระงับการขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งนี้ไว้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์แก่ผู้ที่ประมูลราคาสูงสุด จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 12พฤศจิกายน 2530 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1อันดับที่ 1 ถึงที่ 5 แก่โจทก์เป็นเงิน 3,000,000 บาท และขายทรัพย์อันดับที่ 6.6 แก่นายสมพร สุระวรรณวิจิตร เป็นเงิน110,000 บาท ก่อนการเคาะไม้ขายทรัพย์ดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานการขายต่อศาลชั้นต้นเพื่อมีคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ขายหรือไม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขายได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเคาะไม้ขายไป ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2530 จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขายทรัพย์ ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งงดการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว และประกาศขายทอดตลาดใหม่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มิได้ร้องคัดค้านเรื่องผิดระเบียบหรือการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และมาตรา 296 จึงใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พิพากษายกอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 จึงฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวแล้ว
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานการขายทอดตลาดต่อศาลขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดนั้น เป็นวิธีการขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี หากจำเลยที่ 1 เห็นว่า การขายทรัพย์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะเพื่อให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเสียก่อน ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 296 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่จำเลยที่ 1 หาได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วไม่ กลับยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทรัพย์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้วไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1จึงชอบต่อกฎหมายแล้ว”
พิพากษายืน

Share