คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4095/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 35มิได้มุ่งหมายให้ริบทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่มิได้รู้เห็น เป็นใจในการกระทำผิดด้วย เมื่อคดีฟังได้ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้องซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอจักรยานยนต์ของกลางคืนได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยและให้ริบรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ร้อยเอ็ดฆ-0068 ของกลางที่ใช้ในการกระทำผิด ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องว่ารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเป็นของผู้ร้องไม่ใช่ของจำเลย และผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลาง และรถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จะต้องริบตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 35 โดยไม่จำต้องเป็นผู้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางคดีนี้แก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 35 มิได้มุ่งหมายให้ริบทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดด้วย ฉะนั้นบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้ริบทรัพย์ของผู้อื่นผู้มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดและทรัพย์นั้นไม่ใช่ทรัพย์ที่บุคคลทำหรือมีไว้เป็นความผิดแล้วย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในระบอบประชาธิปไตย พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 35 เป็นบทบัญญัติที่ให้ริบทรัพย์สินของบุคคลผู้กระทำความผิดแต่จะริบทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดด้วยไม่ได้ ดังนั้น เมื่อรูปคดีฟังได้ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้องผู้มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว กรณีจะตกอยู่ในบังคับ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอรถจักรยานยนต์ของกลางคืนได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share