คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก.เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” นั้น หมายความว่า การโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นจะกระทำมิได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวต่อเมื่อที่ดินนั้นเป็นที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กล่าวคือ เป็นที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก.ได้มาตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แล้วนำที่ดินนั้นมาจัดให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518ดังนั้น สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจะเป็นโมฆะเพราะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ต่อเมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยทั้งสองได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเช่นนั้น
เมื่อศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า 1. สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทท้ายฟ้องเป็นโมฆะหรือไม่ 2. จำเลยทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้โจทก์หรือไม่ และ3. โจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด และข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะขายที่ดินของจำเลยในเขตโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามสำเนาแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ให้แก่โจทก์ตามสำเนาสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมายเลข 3 และจำเลยทั้งสองให้การว่าสัญญาจะซื้อขายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นโมฆะ เพราะที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้เพื่อทำประโยชน์เฉพาะราย ไม่สามารถโอนการครอบครองหรือเปลี่ยนมือให้บุคคลอื่นเข้าครอบครองทำประโยชน์นั้น พอฟังได้เพียงว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ยังไม่พอให้ฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่สำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาและจัดให้จำเลยทั้งสองตามมาตรา 30แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 จนที่ดินนั้นเป็นที่ดินที่จำเลยทั้งสองได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเป็นต้องฟังพยานหลักฐานของคู่ความให้เสร็จสิ้นเสียก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้อแรกที่ว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ และประเด็นข้อพิพาทข้ออื่น ๆ ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยการพิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะขายที่ดินของจำเลยในเขตโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่โจทก์โดยได้รับเงินมัดจำและส่งมอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในวันทำสัญญา ตกลงโอนชื่อภายใน ๒ เดือน จึงนัดชำระเงินส่วนที่เหลือ จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมโอนชื่อผู้ถือครองที่ดินให้แก่โจทก์ภายในกำหนด ทำให้โจทก์เสียหายขอให้พิพากษาว่า สิทธิครอบครองที่พิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยโอนชื่อผู้ครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินหรือ ส.ป.ก.ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยรับเงินส่วนที่เหลือและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ห้ามจำเลยและบุคคลอื่นเกี่ยวข้องกับที่พิพาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ สัญญาจะซื้อขายเป็นโมฆะ เพราะที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรม ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้เพื่อทำประโยชน์เฉพาะราย ไม่สามารถโอนการครอบครองหรือเปลี่ยนมือให้บุคคลอื่นเข้าครอบครองทำประโยชน์ได้ โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานและวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตามพระราช-บัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๑๘ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๓๖ ทวิ วรรคแรก บัญญัติให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จำเลยไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่จะโอนให้ผู้ใดได้ รวมทั้งไม่อาจส่งมอบสิทธิครอบครองที่จำเลยไม่มีให้แก่ผู้อื่นด้วย และการโอนสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นก็ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๓๙ ไม่ว่าสัญญาท้ายฟ้องเป็นสัญญาซื้อขายหรือโอนการครอบครองโดยมีค่าตอบแทนหรือโอนการทำประโยชน์ ก็มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นโมฆะ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๓๙ ซึ่งบัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก.เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” นั้น หมายความว่า การโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นจะกระทำมิได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวต่อเมื่อที่ดินนั้นเป็นที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกล่าวคือ เป็นที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก.ได้มาตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แล้วนำที่ดินนั้นมาจัดให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรตามมาตรา ๓๐แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๑๘ ดังนั้น สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจะเป็นโมฆะเพราะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังล่าวก็ต่อเมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยทั้งสองได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเช่นนั้น
เมื่อศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ๑. สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทท้ายฟ้องเป็นโมฆะหรือไม่ ๒. จำเลยทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้โจทก์หรือไม่ และ๓. โจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด และข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะขายที่ดินของจำเลยในเขตโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามสำเนาแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ ให้แก่โจทก์ตามสำเนาสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมายเลข ๓ และจำเลยทั้งสองให้การว่าสัญญาจะซื้อขายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๓ เป็นโมฆะ เพราะที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้เพื่อทำประโยชน์เฉพาะราย ไม่สามารถโอนการครอบครองหรือเปลี่ยนมือให้บุคคลอื่นเข้าครอบครองทำประโยชน์นั้น พอฟังได้เพียงว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ยังไม่พอให้ฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาและจัดให้จำเลยทั้งสองตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๑๘ จนที่ดินนั้นเป็นที่ดินที่จำเลยทั้งสองได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเป็นต้องฟังพยานหลักฐานของคู่ความให้เสร็จสิ้นเสียก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้อแรกที่ว่าสัญญาซื้อขาย (ที่ถูกคือสัญญาจะซื้อขาย) ที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่และประเด็นข้อพิพาทข้ออื่น ๆ ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยการพิจารณา
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น และคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยให้เสร็จสิ้น แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share