แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยที่2ผู้รับโอนที่ดินพิพาทขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์เป็นการพิพากษาตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524มาตรา54วรรคหนึ่งซึ่งเป็นการบังคับขายตามกฎหมายมิใช่เป็นการซื้อขายโดยสมัครใจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวมิใช่เพียงแต่ต้องการคุ้มครองผู้เช่านาให้ได้สิทธิซื้อที่นาที่เช่าอยู่ก่อนคนอื่นเท่านั้นแต่ยังต้องการคุ้มครองผู้รับโอนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้ไม่ต้องเสียหายเกินสมควรโดยให้ได้รับการชดใช้คืนซึ่งสิ่งที่ได้ลงไปในการซื้อที่นานั้นมาอย่างบริบูรณ์ด้วยการให้ผู้รับโอนรับภาระค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งอาจเป็นจำนวนท่วมราคาซื้อขายทั้งๆที่ผู้รับโอนถูกบังคับขายเช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่าทำให้ผู้รับโอนมิได้รับการชดใช้ซึ่งสิ่งที่ได้ลงไปในการซื้อที่นามาอย่างบริบูรณ์และไม่เป็นธรรมแก่ผู้รับโอนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายค่าธรรมเนียมในการโอนและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีนี้จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้เช่านาจะต้องรับภาระเองดังนั้นแม้คำพิพากษาศาลฎีกาจะมิได้กำหนดให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโจทก์ก็จะอาศัยบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการซื้อขายหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากราคาซื้อขายที่กำหนดในคำพิพากษาไม่ได้ เมื่อโจทก์ไม่ปฎิบัติตามคำพิพากษาและจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลโดยมิใช่คำร้องที่สามารถทำได้ฝ่ายเดียวศาลย่อมมีอำนาจส่งสำเนาให้โจทก์เพื่อให้โอกาสคัดค้านและเมื่อศาลฟังคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วก็สามารถมีคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา21(2)หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วหากโจทก์ยังคงไม่ปฎิบัติตามคำพิพากษาจำเลยที่2ก็ชอบที่จะขอออกคำบังคับและหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่โจทก์ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษายืนให้จำเลยที่ 2จดทะเบียนขายที่นาโฉนดเลขที่ 5091 ตำบลคลองเปรงอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1ให้แก่โจทก์ในราคา 17,000 บาท หากจำเลยไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ได้ทำการรังวัดและจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดไปแล้ว แต่โจทก์กลับไม่ยอมชำระราคาที่ดิน 17,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกโจทก์มาสอบถาม
ครั้นถึงวันนัดศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่ง ตามคำพิพากษาถึงที่สุด เป็นกรณีที่คู่ความต่างต้องปฎิบัติตอบแทนซึ่งกันและกัน เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินไปแล้ว โจทก์ต้องมีหน้าที่ต้องชำระเงิน 17,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษา ไม่ปรากฎว่าศาลได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าธรรมเนียมการโอนขายในชั้นนี้จึงให้โจทก์ชำระเงิน 17,000 บาท แก่จำเลยที่ 2ภายใน 30 วัน
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
โจทก์ฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิขอหักเงินค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนจากเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาได้หรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2ผู้รับโอนที่ดินพิพาท ขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์นั้น เป็นการพิพากษาตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการบังคับขายตามกฎหมาย มิใช่เป็นการซื้อขายโดยสมัครใจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การบังคับขายในกรณีนี้ พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวบัญญัติให้ผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาจากผู้รับโอนนั้นตามราคาที่ผู้รับโอนซื้อไว้ หรือตามราคาตลาดในขณะนั้น แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน การที่กฎหมายบัญญัติเช่นนี้ย่อมแสดงว่ากฎหมายมิใช่เพียงแต่ต้องการคุ้มครองผู้เช่านาให้ได้สิทธิซื้อที่นาที่เช่าอยู่ก่อนคนอื่นเท่านั้นแต่ยังต้องการคุ้มครองผู้รับโอนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้ไม่ต้องเสียหายเกินสมควรโดยให้ได้รับการชดใช้คืนซึ่งสิ่งที่ได้ลงไปในการซื้อที่นานั้นมาอย่างบริบูรณ์ด้วย การให้ผู้รับโอนรับภาระค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งอาจเป็นจำนวนท่วมราคาซื้อขายทั้ง ๆที่ผู้รับโอนถูกบังคับขายเช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่าทำให้ผู้รับโอนมิได้รับการชดใช้ซึ่งสิ่งที่ได้ลงไปในการซื้อที่นามาอย่างบริบูรณ์ และไม่เป็นธรรมแก่ผู้รับโอนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ค่าธรรมเนียมในการโอนและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีนี้จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้เช่านาจะต้องรับภาระเอง ดังนั้น แม้คำพิพากษาศาลฎีกาจะมิได้กำหนดให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโจทก์ก็จะอาศัยบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขายหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากราคาซื้อขายที่กำหนดในคำพิพากษาไม่ได้ โจทก์จึงต้องชำระเงินจำนวน 17,000 บาท แก่จำเลยที่ 2โดยไม่สามารถขอหักค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนเพื่อประโยชน์ของโจทก์ได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า หากโจทก์ไม่ชำระราคาที่ดินตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ต้องขอบังคับคดีเอาจากโจทก์ มิใช่ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกมาสอบถามนั้น เห็นว่า เมื่อคู่ความฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องต่อศาล โดยมิใช่คำร้องที่สามารถทำได้ฝ่ายเดียว ศาลย่อมมีอำนาจส่งสำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้โอกาสคัดค้าน และเมื่อศาลฟังคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วก็สามารถมีคำสั่งได้ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 21 (2) หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว หากโจทก์ยังคงไม่ปฎิบัติตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะขอออกคำบังคับและหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่โจทก์ได้
พิพากษายืน