คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4062/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิด โดยลักรถยนต์คันพิพาทไปขณะที่ออกเวรปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยแล้ว อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะส่วนตัว กับบรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดในฐานะผู้ว่าจ้างดูแลทรัพย์สินและรักษาความปลอดภัยในบริเวณที่เกิดเหตุ อันเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์แยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นปัญหาดังกล่าวให้เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยจำนวน 250,000 บาทแล้ว โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิในค่าเสียหายจำนวน 250,000 บาท จากผู้เอาประกันภัย และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2541 อันเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระเงินดังกล่าวจนถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ย 9,375 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ลักรถยนต์คันดังกล่าวไปและจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้รับจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยและทรัพย์สิน ร่วมกันคืนรถยนต์หมายเลขทะเบียนตามฟ้องให้แก่โจทก์ หากไม่สามารถส่งมอบรถคืนได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 259,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 259,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 ตุลาคม 2541) จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดโดยลักรถยนต์คันพิพาทไปขณะที่ออกเวรปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยแล้ว อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะส่วนตัว กับบรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับจ้างดูแลทรัพย์สินและรักษาความปลอดภัยในบริเวณที่เกิดเหตุ อันเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์แยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ ดังนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นปัญหาดังกล่าวให้เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ยังมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมอันเป็นการไม่ชอบและศาลอุทธรณ์ไม่ได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษายกฎีกาของโจทก์และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share