คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1743/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 19 ทวิกฎหมายให้อุทธรณ์ได้ใน 2 กรณีคือ เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งตามมาตรา 16, 18 หรือ 19 ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้น ๆ ภายใน 90 วัน หรือเมื่อนายทะเบียนประกาศคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามมาตรา 21 แล้ว และมีผู้คัดค้าน ผู้ขอจดทะเบียนต้องยื่นคำโต้แย้งแล้วให้นายทะเบียนมีคำวินิจฉัย เมื่อนายทะเบียนวินิจฉัยแล้วภายใน 90 วัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิจะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็ได้ หรือจะนำคดีไปสู่ศาลก็ได้ โดยต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนถึงการนำคดีไปสู่ศาลใน 90 วันด้วย และให้นายทะเบียนรอฟังคำวินิจฉัยของศาล ถ้ามิได้อุทธรณ์ หรือมิได้นำคดีไปสู่ศาล สิทธิอุทธรณ์หรือสิทธินำคดีไปสู่ศาลเป็นอันสิ้นไปตามมาตรา 22
การนำคดีไปสู่ศาลตามมาตรา 22 หมายถึงการฟ้องผู้คัดค้านและนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำวินิจฉัยเช่นนั้นต่อศาลมิใช่ฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เพราะแม้ฝ่ายหนึ่งจะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้วอีกฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น ก็มีสิทธินำคดีไปฟ้องศาลได้โดยแจ้งแสดงหลักฐานให้นายทะเบียนทราบ และนายทะเบียนจะต้องรอฟังคำพิพากษาของศาล โดยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ใช้สิทธินำคดีมีข้อพิพาทไปฟ้องศาล คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็จะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น ซึ่งเป็นอำนาจและหน้าที่ตามมาตรา 19 ตรี
ความในมาตรา 19 เบญจ วรรคท้าย ที่บัญญัติว่าคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้เป็นที่สุดนั้น หมายถึงคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 19 ตรี(1) หรือคำสั่งตามมาตรา 19 ตรี(2)ซึ่งมีผลบังคับแก่คู่กรณีทุกฝ่าย
เมื่อผู้คัดค้านอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 22 ผู้ขอจดทะเบียนมิได้ใช้สิทธินำคดีไปสู่ศาล เพื่อมิให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นย่อมเป็นการยอมรับให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านตลอดถึงคำขอจดทะเบียน กับคำแถลงโต้แย้งของผู้ขอจดทะเบียนที่ต่อสู้กับผู้คัดค้านในชั้นที่นายทะเบียนมีคำวินิจฉัยแล้วเมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 19 ตรี(1)อย่างไร คำวินิจฉัยนั้นย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 19 เบญจ วรรคท้ายคู่กรณีไม่ว่าฝ่ายใด ไม่มีสิทธิจะฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นจำเลยต่อศาลในกรณีเดียวกันอีกได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นใบสลากมีดอกไม้อยู่ภายในวงกลม และคำว่า “CLEANTEST”นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่ารับจดทะเบียนได้ จึงประกาศคำขอของโจทก์ แต่คิมเบอร์ลี่คล๊ากคอร์ปอเรชั่น เจ้าของเครื่องหมายการค้า”KLEENEX” ร้องคัดค้าน นายทะเบียนวินิจฉัยยกคำร้องคัดค้านนั้น ผู้คัดค้านอุทธรณ์ จำเลยวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับของผู้อุทธรณ์ ให้นายทะเบียนระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์เห็นว่าไม่คล้ายกัน ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลย ฯลฯ

จำเลยต่อสู้หลายประการ และว่าคำวินิจฉัยของจำเลยชอบด้วยกฎหมายและถึงที่สุดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาต่อมา

คดีชั้นฎีกามีปัญหาข้อเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นจำเลยขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยได้หรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จัดตั้งขึ้น (แทนรัฐมนตรี) ตามมาตรา 19 ทวิ กฎหมายให้อุทธรณ์ได้ใน 2 กรณี คือ

1. เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งตามมาตรา 16,18หรือมาตรา 19 แล้ว ให้ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้น ๆ ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ภายใน 90 วัน

2. เมื่อนายทะเบียนได้ประกาศคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 21 แล้ว และมีผู้คัดค้านต่อนายทะเบียนผู้ขอจดทะเบียนต้องยื่นคำโต้แย้งแล้วให้นายทะเบียนมีคำวินิจฉัย เมื่อนายทะเบียนให้คำวินิจฉัยแล้วภายใน 90 วัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิจะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็ได้ หรือจะนำคดีไปสู่ศาลก็ได้โดยต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนถึงการนำคดีไปสู่ศาลใน 90 วันด้วย ถ้าฝ่ายใดได้อุทธรณ์แล้ว ผู้อุทธรณ์จะดำเนินคดีทางศาลในกรณีเดียวกันไม่ได้ แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แจ้งและแสดงหลักฐานให้นายทะเบียนทราบว่าได้นำคดีไปสู่ศาลแล้ว ให้นายทะเบียนรอฟังคำพิพากษาของศาล ถ้ามิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนหรือมิได้นำคดีไปสู่ศาล สิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหรือสิทธิที่จะนำคดีไปสู่ศาลเป็นอันสิ้นไป (มาตรา 22)

การนำคดีไปสู่ศาลตามมาตรา 22 นี้ หมายถึงการฟ้องผู้คัดค้านและนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำวินิจฉัยเช่นนั้นต่อศาลไม่ใช่ฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อศาล เพราะแม้ฝ่ายหนึ่งจะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น ก็มีสิทธินำคดีไปฟ้องศาลได้โดยแจ้งและแสดงหลักฐานให้นายทะเบียนทราบ และนายทะเบียนจะต้องรอฟังคำพิพากษาของศาลโดยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้ว และอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ใช้สิทธินำคดีมีข้อพิพาทไปฟ้องต่อศาล คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็จะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น เช่นเดียวกับอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 16,18,19 ในกรณีแรกเหมือนกัน เพราะมาตรา 19 ตรี บัญญัติไว้แล้วว่า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

“(1) วินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 16 มาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 22 ที่ได้ยื่นทางนายทะเบียน ฯลฯ

(2) สั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เห็นว่าขัดต่อนโยบายของรัฐ”

และมาตรา 19 เบญจ วรรคท้าย บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้เป็นที่สุด” ซึ่งหมายถึงคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 19 ตรี(1) หรือคำสั่งตามมาตรา 19 ตรี(2) ดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง

กรณีของโจทก์ตามฟ้องเป็นกรณีตามมาตรา 22 ซึ่งผู้คัดค้านได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว โดยโจทก์มิได้ใช้สิทธินำคดีไปสู่ศาลเพื่อมิให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น เป็นการยอมรับให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน ตลอดถึงคำขอจดทะเบียนของโจทก์กับคำแถลงโต้แย้งของโจทก์ที่ต่อสู้กับผู้คัดค้านในชั้นที่นายทะเบียนมีคำวินิจฉัยมาแล้ว ฉะนั้น เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องนี้ตามอำนาจในมาตรา 19 ตรี(1)อย่างไรแล้ว คำวินิจฉัยนั้นย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 19 เบญจ วรรคท้าย โจทก์หรือคิมเบอร์ลี่คล๊าก คอร์ปอเรชั่นผู้อุทธรณ์ไม่มีสิทธิจะฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็น จำเลยต่อศาลในกรณีเดียวกันอีกได้

ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า มาตรา 22ห้ามเฉพาะผู้อุทธรณ์มิให้ดำเนินคดีทางศาล แต่ไม่ห้ามโจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง โจทก์จึงนำคดีมาสู่ศาลได้นั้น ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่กฎหมายบัญญัติว่าถึงที่สุดในกรณีนี้ มีผลบังคับแก่คู่กรณี คือ โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และผู้คัดค้านซึ่งเป็นอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share