แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย และจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัย หมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 เรื่องการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 2.12 ระบุว่า การประกันภัยความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะ หรือความรับผิดต่อผู้โดยสาร และความรับผิดต่อทรัพย์สิน ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลขณะที่อยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ตามข้อ 2.12.7 และมีข้อสัญญาพิเศษตามข้อ 2.13 ระบุว่า ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในตาราง บริษัทผู้รับประกันภัยจะไม่ยกข้อยกเว้นความรับผิดตามข้อ 2.12 เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก หรือความรับผิดต่อผู้โดยสาร จากข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวย่อมหมายความว่า โดยหลักแล้วกรมธรรม์ประกันภัยจะคุ้มครองความรับผิดของผู้เอาประกันภัยในเรื่องความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกที่เกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัย ความรับผิดต่อผู้โดยสารที่อยู่ในรถยนต์ที่เอาประกันภัยที่เกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัย และความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่เกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัย เว้นแต่เป็นกรณีผู้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ ผู้เอาประกันภัยจะไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่มีข้อสัญญาพิเศษยกเว้นให้รับผิดจากข้อยกเว้นข้างต้นอีก กล่าวคือ ถ้าเป็นกรณีความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกและความรับผิดต่อผู้โดยสาร แม้ผู้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ ผู้รับประกันภัยจะไม่ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก คงมีแต่เฉพาะกรณีความรับผิดต่อทรัพย์สินเท่านั้นที่ไม่มีข้อห้ามยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอก ฉะนั้น เมื่อกรณีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย โดยอาศัยสัญญาประกันภัยดังกล่าวให้ชำระเงินค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์เสียหาย แบ่งเป็นเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าซ่อมรถยนต์ ค่าลากรถยนต์และค่ารถยนต์ที่เสื่อมราคา จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยนั้นแล้ว จำเลยที่ 4 ก็ย่อมมีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดเฉพาะต่อความเสียหายในทรัพย์สินของโจทก์
ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง ฉะนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องผู้เประกันภัยด้วย ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัย เสียไป จำเลยที่ 4 จึงยังต้องรับผิดตามกรมธรรม์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 648,456 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ไม่เรียกทายาทของจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 ผู้มรณะ ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 369,456 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องวันที่ 9 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 207,353 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจตรวจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย มีจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัย ในขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ตามกรมธรรม์ประกันภัย ชนโจทก์และรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 4 ยอมรับผิดต่อความบาดเจ็บของโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.1 เป็นเงิน 100,000 บาทและชำระเงินให้โจทก์แล้ว 50,000 บาท
มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4จะยกเอาข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยมาปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เพียงใด จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยอาศัยกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 4 จึงมีสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายที่จะยกข้อต่อสู้ตามกรมธรรม์ประกันภัยขึ้นอ้างได้ และจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดเฉพาะต่อความบาดเจ็บของโจทก์เท่านั้น ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อทรัพย์สินของโจทก์ เนื่องจากมีข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ข้อ 2.13 เป็นข้อสัญญาพิเศษที่ห้ามจำเลยที่ 4 ยกข้อต่อสู้ตามข้อ 2.12 เฉพาะเรื่องความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก และความรับผิดต่อผู้โดยสาร แต่ไม่ห้ามยกข้อต่อสู้เรื่องความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 หมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 เรื่องการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 2.12 ระบุว่า การประกันภัยความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะ หรือความรับผิดต่อผู้โดยสาร และความรับผิดต่อทรัพย์สิน ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลขณะที่อยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ตามข้อ 2.12.7 และมีข้อสัญญาพิเศษตามข้อ 2.13 ระบุว่า ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในตาราง บริษัทผู้รับประกันภัยจะไม่ยกข้อยกเว้นความรับผิดตามข้อ 2.12 เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก หรือความรับผิดต่อผู้โดยสาร จากข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวย่อมหมายความว่า โดยหลักแล้วกรมธรรม์ประกันภัยจะคุ้มครองความรับผิดของผู้เอาประกันภัยในเรื่องความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกที่เกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัย ความรับผิดต่อผู้โดยสารที่อยู่ในรถยนต์ที่เอาประกันภัยที่เกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัย และความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่เกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัย เว้นแต่เป็นกรณีผู้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ ผู้เอาประกันภัยจะไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่มีข้อสัญญาพิเศษยกเว้นให้รับผิดจากข้อยกเว้นข้างต้นอีก กล่าวคือ ถ้าเป็นกรณีความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกและความรับผิดต่อผู้โดยสาร แม้ผู้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ ผู้รับประกันภัยจะไม่ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก คงมีแต่เฉพาะกรณีความรับผิดต่อทรัพย์สินเท่านั้นที่ไม่มีข้อห้ามยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอก ฉะนั้น เมื่อกรณีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย โดยอาศัยสัญญาประกันภัยดังกล่าว ให้ชำระเงินค่าเสียหาย เนื่องจากโจทก์ได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์เสียหาย แบ่งเป็นเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าซ่อมรถยนต์ ค่าลากรถยนต์และค่ารถยนต์เสื่อมราคา กรณีความรับผิดต่อทรัพย์สิน คือ ค่าซ่อมรถยนต์ ค่าลากรถยนต์และค่ารถยนต์เสื่อมราคา จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยนั้นแล้ว จำเลยที่ 4 ก็ย่อมมีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายในทรัพย์สินของโจทก์ เมื่อหักค่าเสียหายต่อทรัพย์สินออกจากค่าเสียหายต่อการบาดเจ็บของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว จำเลยที่ 4 คงต้องรับผิดต่อความบาดเจ็บของโจทก์จำนวน 50,000 บาท คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาในคำแก้ฎีกาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้นสำหรับฎีกาข้อกฎหมายข้อสองที่ว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ไม่ได้เรียกผู้ใดเข้ามาแทนที่คู่ความผู้มรณะ เท่ากับโจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคสอง บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง ฉะนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องผู้เอาประกันภัยด้วย ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยเสียไป จำเลยที่ 4 จึงยังต้องรับผิดตามฟ้องอยู่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ