คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1756/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจ้างโจทก์ซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความให้จัดการขอแบ่งทรัพย์สินของผู้ตายจากผู้จัดการมรดกให้จำเลยโดยตกลงจะให้ค่าจ้างเป็นเงิน โจทก์จัดการจนสำเร็จก่อนครบกำหนดสองปีนับแต่วันที่ผลงานเสร็จ จำเลยไม่มีเงินสด จึงจะโอนตึกแถวพร้อมที่ดินให้โจทก์แทนเงินค่าจ้าง และมอบให้บุตรของจำเลยไปจัดการ เมื่อจำเลยไปอวยพรปีใหม่และโจทก์ถามถึงค่าจ้าง จำเลยก็บอกให้โจทก์ทราบ ดังนี้ เป็นการกระทำอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่า ยอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องนั้น อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างนับจากวันหลังขึ้นปีใหม่ถึงวันฟ้องยังไม่เกินสองปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยและนายประมูล นวราช อยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และร่วมกันทำมาหากินจนเกิดทรัพย์สินขึ้นหลายอย่างต่อมานายประมูลถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งทายาทของนายประมูลให้เป็นผู้จัดการมรดก ผู้จัดการมรดกบางคนและทายาทบางคนไม่ยอมแบ่งทรัพย์สินให้แก่จำเลยตามส่วน จำเลยมอบให้โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์สินที่จำเลยมีสิทธิได้รับ โจทก์ดำเนินการเรียกร้องเป็นลำดับมา ในที่สุดผู้จัดการมรดกและทายาทของนายประมูลยอมแบ่งทรัพย์สินให้จำเลยรวมเป็นราคา 995,312 บาทจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ 99,000 บาท ภายใน พ.ศ. 2515 แต่เมื่อถึงกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระ โจทก์ทวงถาม จำเลยเพิกเฉยเสีย จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2516ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 14,850 บาท รวมทั้งหมดจำเลยต้องชำระให้โจทก์ 113,850บาท ขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยมอบให้โจทก์จัดการเรียกร้องทรัพย์สินจากกองมรดกของนายประมูล และไม่เคยตกลงจะจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ ทั้งจำเลยไม่เคยได้รับส่วนแบ่งจากกองมรดกของนายประมูล และตัดฟ้องว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฯลฯ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างพร้อมทั้งดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 56,925 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 49,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ฯลฯ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ข้อเท็จจริงยุติฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์มีอาชีพเป็นทนายความจำเลยเป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายประมูล นวราช และมีบุตรด้วยกัน5 คน หลังจากนายประมูลตายและศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของนายประมูลแล้ว ผู้จัดการมรดกบางคนจะแบ่งมรดกของนายประมูลให้เฉพาะบุตรของนายประมูล ซึ่งเกิดจากจำเลย และซึ่งเกิดภริยาอีกคนหนึ่ง แต่จะไม่แบ่งให้จำเลยเพราะเป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไปปรึกษาโจทก์โจทก์บอกว่าจำเลยมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเพราะทำมาหากินร่วมกัน จำเลยจึงมอบให้โจทก์จัดการ โจทก์มีหนังสือแจ้งให้นางเตือนใจผู้จัดการมรดกคนที่ไม่ยอมแบ่งทรัพย์สินให้จำเลยทราบว่าจำเลยมีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง ต่อมานัดเจรจากัน จำเลยมอบให้โจทก์เจรจากับนางเตือนใจ ในที่สุดตกลงแบ่งที่ดินพร้อมกับบ้านและตึกแถว 7 – 8 คูหากับเงินสด 97,000 บาทให้แก่จำเลยและบุตร ปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2514ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งทรัพย์สินและมรดกกันตามเอกสารหมาย จ.ล.1

ในประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังว่าจำเลยตกลงจะให้ค่าจ้างเป็นเงินแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยไม่มีเงินสด จึงจะโอนตึกแถวพร้อมที่ดิน 1 คูหาให้โจทก์แทนเงินค่าจ้าง โดยจำเลยมอบให้นายประจำดีบุตรจำเลยจัดการ เมื่อจำเลยไปอวยพรปีใหม่ พ.ศ. 2516 และโจทก์ถามถึงค่าจ้าง จำเลยจึงบอกให้โจทก์ทราบ การที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความฟ้องเรียกค่าจ้างในการที่โจทก์เจรจาแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยและบุตรนั้นมีอายุความสองปีนับจากวันที่ผลงานเสร็จ คือวันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามเอกสารหมาย จ.ล.1 และเอกสารหมาย จ.ล.1 ทำเมื่อเดือนกรกฎาคม 2514 จึงครบอายุความสองปีภายในเดือนกรกฎาคม 2516 แม้โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากพ้นกำหนดสองปีนับจากวันที่ผลงานเสร็จ แต่ก่อนที่จะครบกำหนดสองปี จำเลยตกลงจะโอนตึกแถวพร้อมที่ดิน 1 คูหาให้โจทก์แทนเงินค่าจ้าง เพราะไม่มีเงินสด และจำเลยมอบให้นายประจำดี บุตรจำเลยจัดการโอนตึกแถวพร้อมทั้งที่ดิน 1 คูหาให้โจทก์ เมื่อจำเลยไปอวยพรปีใหม่ พ.ศ. 2516และโจทก์ถามถึงค่าจ้าง จำเลยจึงบอกให้โจทก์ทราบ การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการกระทำอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัย ตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องนั้น อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2516และเริ่มนับอายุความใหม่หลังจากวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2516 แต่นับจากวันหลังจากวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2516 ถึงวันฟ้องยังไม่เกินสองปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share