คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1134/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสุดท้าย ที่แก้ไขใหม่มิได้มีความหมายว่า ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้มีผลใช้บังคับแล้วต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยตามบันทึกการจับกุมมารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลย เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตามมาตรา 226 โดยชอบแล้ว ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่แก้ไขใหม่ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 84 วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลยุติธรรมก่อนวันที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยมารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลงโทษจำเลยได้ตามกฎหมายเดิม
ฎีกาของจำเลยที่ว่า ในชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามบันทึกการจับกุมเกิดจากการขู่เข็ญของเจ้าพนักงานตำรวจ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 243 วรรคสามนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าการที่จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจขู่เข็ญหรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังมา เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2543 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวนเท่าใดไม่ปรากฏชัดโดยวิธีสูบควันระเหยเข้าสู่ร่างกาย จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 5 เม็ด น้ำหนัก 0.466 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 1 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด อันเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายให้แก่สายลับเป็นเงิน 120 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและเงินสด 1,150 บาท ของกลาง คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาเสพและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ให้การปฏิเสธในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม)), 57, 66 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่)), 91 (ที่ถูก มาตรา 91 (ที่แก้ไขใหม่)) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนและให้การรับสารภาพในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่งและหนึ่งในสี่ตามลำดับ คงจำคุก 6 ปี 3 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีน คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาข้อ 2.4 ของจำเลยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 มารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลงโทษจำเลยข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคสุดท้าย ที่แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 19 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคสุดท้าย ที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป บัญญัติว่า “ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตามมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี” ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ หาได้มีความหมายว่า ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้มีผลใช้บังคับแล้วต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 มารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยด้วยไม่ เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 โดยชอบแล้ว ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่แก้ไขใหม่ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 84 วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลยุติธรรมก่อนวันที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 มารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลงโทษจำเลยได้ตามกฎหมายเดิม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาในข้อดังกล่าวต่อมาว่า ในชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 เกิดจากการขู่เข็ญของเจ้าพนักงานตำรวจ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 243 วรรคสามนั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าการที่จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจขู่เข็ญหรือไม่ ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังมา เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ สำหรับเงินสด 1,150 บาท ของกลางที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่ริบแต่ศาลล่างทั้งสองยังไม่สั่งคืน นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนเสียด้วย”
พิพากษายืน คืนเงินสด 1,150 บาท ของกลางแก่เจ้าของ.

Share