แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันลักเอาผงดินของขลังซึ่งเป็นวัตถุในทางศาสนาที่ทำให้พระพุทธรูปมีความขลัง และทรงคุณค่าในความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอัดบรรจุอยู่ในพระพุทธรูป “พระครูเหล็ก” จำนวนหนัก 4.50 กรัม ประมาณราคาไม่ได้ของวัดแจ้งสว่างไป ดังนี้ เป็นฟ้องที่ชัดเจนแล้วว่าผงดินของขลังและพระพุทธรูป “พระครูเหล็ก” เป็นของวัดแจ้งสว่าง ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย
ผงดินของขลังที่บรรจุในฐาน 4 องค์ พระพุทธรูปได้มาจากแหล่งสำคัญในทางพุทธศาสตราที่ประชาชนเคารพนับถือ โดยสภาพเป็นผงดินธรรมดา การนำมาบรรจุในฐานองค์พระพุทธรูปเพื่อให้ประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระพุทธรูปยิ่งขึ้นนั้น ไม่ใช่วัตถุทางศาสนาซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน และคำว่า “ส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูป” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2512 มาตรา 3 นั้น หมายถึงส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นรูปร่างพระพุทธรูป เช่น พระเศียร พระหัตถ์ พระกร และพระบาท ฯลฯ ซึ่งถ้าหากส่วนหนึ่งส่วนใดถูกตัดหรือถูกทำลายย่อมทำให้พระพุทธรูปขาดความสมบูรณ์ ผงดินของขลังที่บรรจุอยู่ในฐานองค์พระพุทธรูป แม้จะถูกนำออกไปก็หาทำให้พระพุทธรูปขาดความสมบูรณ์ไปไม่ รูปลักษณะของพระพุทธรูปยังคงอยู่ในสภาพเดิม ผงดินของขลังจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูป การที่จำเลยลักเอาผงดินของขลังไปจึงไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว
เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2512 มาตรา 3 ตามที่จำเลยที่ 6 แต่ผู้เดียวได้ฎีกาขึ้นมา แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1)(7) ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ด้วยก็ตาม โดยที่เป็นเหตุในลักษณะคดี จึงต้องมีผลถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเหล็กสกัด ค้อน ใบเลื่อยตัดเหล็ก ไขควงเป็นอาวุธติดตัว ได้บังอาจร่วมกันลักเอาผงดินของขลังซึ่งเป็นวัตถุในทางศาสนาที่ทำให้พระพุทธรูปมีความขลัง และทรงคุณค่าในความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอัดบรรจุอยู่ใต้ฐานองค์พระพุทธรูป “พระครูเหล็ก” จำนวนหนัก ๔.๕๐ กรัม ประมาณราคาไม่ได้ของวัดแจ้งสว่าง อยู่ในความดูแลรักษาของพระวิสารทสุธี เจ้าคณะอำเภอชุมแพรักษาการแทนเจ้าอาวาส และนายพิมพ์ ตาประดับมรรคทายกวัดแจ้งสว่างไป โดยจำเลยได้ร่วมกันใช้อาวุธดังกล่าวเป็นเครื่องเจาะสกัดผงดินของขลังออกมา แล้วลักเอาผงดินของขลังซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธรูปและวัตถุในทางศาสนาอันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน เป็นการบังอาจทำให้พระพุทธรูป “พระครูเหล็ก” และผงดินของขลังเสียหาย ทำลาย และเสื่อมค่า ฯลฯ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยผงดินของขลังห่อผ้าขาวม้า ๑ ห่อ เหล็กสกัด ค้อน ใบเลื่อยตัดเหล็ก และไขควงเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๓)(๗), ๓๓๕ ทวิ วรรคสอง, ๓๖๐ ทวิ, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ มาตรา ๓, ๗ ฯลฯ ริบเหล็กสกัด ค้อน ใบเลื่อยตัดเหล็กไขควง ของกลาง และคืนผงดินของขลังของกลางให้เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในข้อหาลักทรัพย์ ฯลฯ ให้คืนผงดินของกลางแก่วัดแจ้งสว่าง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ มาตรา ๓ จำคุกคนละ ๕ ปี ริบเหล็กสกัด ค้อน ใบเลื่อยตัดเหล็ก และไขควงของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ของจำเลยทั้งหกเป็นการกระทำโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ข้อที่จำเลยที่ ๖ ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าผงดินของขลังที่อยู่ในองค์พระครูเหล็กเป็นทรัพย์ของผู้ใด หรือมีผู้ใดเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แม้จะบรรยายฟ้องว่าพระครูเหล็กอยู่ในความดูแลของพระวิสารทสุธีเจ้าคณะอำเภอชุมแพ รักษาการแทนเจ้าอาวาสและนายพิมพ์ ตาประดับมรรคทายกวัดแจ้งสว่าง ก็ไม่พอเข้าใจได้ว่าพระครูเหล็กเป็นของพระวิสารทสุธี หรือนายพิมพ์ ตาประดับ เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันลักเอาผงดินของขลังซึ่งเป็นวัตถุในทางศาสนาที่ทำให้พระพุทธรูป มีความขลังและทรงคุณค่าในความศักดิ์สิทธิ์ซึ่อัดบรรจุอยู่ในพระพุทธรูป “พระครูเหล็ก” จำนวนหนัก ๔.๕๐ กรัม ประมาณราคาไม่ได้ของวัดแจ้งสว่างชัดเจนแล้วว่าผงดินของขลังและพระพุทธรูป “พระครูเหล็ก” เป็นของวัดแจ้งสว่าง ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ ๖ ฎีกาว่า ผงดินของขลังที่บรรจุอยู่ในองค์พระพุทธรูป “พระครูเหล็ก” ไม่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดขององค์ “พระครูเหล็ก” และไม่ใช่ส่วนหนึ่งส่วนใดของวัตถุในทางศาสนา ตามประมวลกฎกมายอาญา มาตรา ๓๓๕ ทวิ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ มาตรา ๓ นั้น เห็นว่า ได้ความจากพระวิสารทสุธีเจ้าคณะอำเภอชุมแพ พยานโจทก์ว่า ผงดินของขลังที่บรรจุในฐานพระองค์พระพุทธรูป “พระครูเหล็ก” ได้มาจากแหล่งสำคัญในทางพุทธศาสนาที่ประชาชนเคารพนับถือโดยสภาพเป็นผงดินธรรมดา การนำมาบรรจุในฐานองค์พระพุทธรูปเพื่อให้ประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระพุทธรูปยิ่งขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่วัตถุทางศาสนาซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน และคำว่า “ส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูป” หมายถึง ส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นรูปร่างพระพุทธรูป เช่น พระเศียร พระหัตถ์ พระกร และพระบาท ฯลฯ ซึ่งถ้าหากส่วนหนึ่งส่วนใดถูกตัดหรือถูกทำลายย่อมทำให้พระพุทธรูปขาดความสมบูรณ์ ผงดินของขลังที่บรรจุอยู่ในฐานองค์พระพุทธรูป แม้จะถูกนำออกไปก็หาทำให้พระพุทธรูปขาดความสมบูรณ์ไปไม่ รูปลักษณะของพระพุทธรูปยังคงอยู่ในสภาพเดิม ผงดินของขลังจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูป “พระครูเหล็ก” การกระทำของจำเลยทั้งหกไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒ มาตรา ๓ แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑)(๗) แม้จำเลยที่ ๑ถึงที่ ๕ จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ โดยเหตุที่เป็นเหตุในลักษณะคดี จึงมีผลถึงจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑)(๗) ให้จำคุกจำเลยคนละ ๓ ปี นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์