คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4324/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกเป็นสัดส่วนถ้าหากให้เอาที่ดินประมูลหรือขายทอดตลาดแล้วเอาเงินแบ่งให้โจทก์ทั้งสามและจำเลยตามส่วนแล้วจำเลยอาจจะต้องรื้อบ้านของจำเลยที่ปลูกสร้างอยู่แล้วออกไปเป็นการเดือดร้อนแล้วศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยได้ส่วนแบ่งทางด้านของที่ดินที่บ้านจำเลยตั้งอยู่ได้ไม่จำต้องสั่งให้ทำการประมูลหรือขายทอดตลาดที่ดินแล้วเอาเงินแบ่งกันดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 5636 โดยโจทก์ที่ 1มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื้อที่ 138.4 ตารางวา โจทก์ที่ 2 ที่ 3และจำเลยมีกรรมสิทธิ์คนละ 69.2 ตารางวา ที่ดินแปลงดังกล่าวยังไม่มีการแบ่งแยกเป็นส่วนสัด โจทก์ทั้งสามประสงค์จะแบ่งแยกให้เป็นส่วนสัดตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 แต่จำเลยไม่ยินยอม ขอให้บังคับจำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5636ตำบลบางระมาด (บางพรมฝั่งเหนือ) อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรีโดยให้มีจำนวนเนื้อที่และอาณาเขตตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 แก่โจทก์ทั้งสาม โดยให้โจทก์ทั้งสามและจำเลยออกค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ตามอัตราส่วนที่ถือกรรมสิทธิ์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยตามอัตราส่วนที่ถือกรรมสิทธิ์
จำเลยให้การว่า ที่ดินแปลงพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ที่ 3 นางเลื่อน แพทย์คดี นายแฉล้ม อยู่คำ(บิดาจำเลย) นางเลี่ยม เปี่ยมทรัพย์ และนายอุบล อยู่คำต่อมาเจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกคนยกเว้นนางเลี่ยมได้แบ่งเขตการครอบครองที่ดินปลูกบ้านล้อมรั้วโดยเจตนายึดถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองและนายแฉล้มก็ได้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 102 ตารางวา แล้วปลูกบ้านเลขที่ 32 หมู่ที่ 21 อยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าวโดยเจตนายึดถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเช่นกันซึ่งต่อมาจำเลยได้ครอบครองที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ดังกล่าวต่อจากบิดาติดต่อกันมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 5636ตำบลบางระมาด (บางพรมฝั่งเหนือ) อำเภอตลิ่งชันจังหวัดธนบุรีไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้โจทก์ที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์เนื้อที่ 138.4 ตารางวา ให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์เนื้อที่คนละ 69.2 ตารางวา โดยให้โจทก์ทั้งสามและจำเลยออกค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนแบ่งแยกตามอัตราส่วนที่ถือกรรมสิทธิ์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้นำที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยตามอัตราส่วนที่ถือกรรมสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยได้รับส่วนแบ่งในที่ดินแปลงพิพาททางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกซึ่งมีบ้านของจำเลยปลูกอยู่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่5636 ตำบลบางระมาด (บางพรมฝั่งเหนือ) อำเภอตลิ่งชันจังหวัดธนบุรี เนื้อที่ 3 งาน 46 ตารางวา มีชื่อโจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยโจทก์ที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์138.4 ตารางวา ส่วนโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยถือกรรมสิทธิ์คนละ 69.2 ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 ที่ดินดังกล่าวเดิมโจทก์ที่ 3 นางเลื่อน แพทย์คดี นายแฉล้ม อยู่คำนางเลี่ยม เปี่ยมทรัพย์ และนายอุบล อยู่คำมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวม แต่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมยังไม่ได้ตกลงแบ่งกันเป็นส่วนสัดว่าที่ดินส่วนไหนเป็นของใครให้เป็นที่แน่นอน และนายแฉล้มเข้าไปครอบครองปลูกบ้านอยู่อาศัยทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเนื้อที่ 102 ตารางวาตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย ล.2 ต่อมาโจทก์ที่ 1ซื้อที่ดินส่วนของนางเลื่อนและนายอุบล โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินส่วนของนางเลี่ยม ส่วนจำเลยได้รับมรดกที่ดินส่วนของนายแฉล้มบิดาและจำเลยได้ครอบครองที่ดินและบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าวต่อจากบิดารวมกันแล้วเป็นเวลากว่า 10 ปี
พิเคราะห์แล้ว ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้จำเลยได้รับส่วนแบ่งในที่ดินแปลงพิพาททางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกซึ่งมีบ้านของจำเลยปลูกอยู่ตามจำนวนส่วนสัดที่เป็นของจำเลยนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์รับฟังว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยต่างมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงพิพาทและยังไม่มีการตกลงแบ่งกันแล้ว ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าเพื่อไม่ให้จำเลยได้รับความเสียหายในการที่ต้องรื้อบ้านที่จำเลยอยู่อาศัย ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงพิพาทตามจำนวนส่วนสัดที่เป็นของจำเลยตรงที่บ้านจำเลยอยู่อาศัยนั้นหาได้ไม่ เพราะโจทก์ทั้งสามและจำเลยไม่ได้ตกลงกันเช่นนั้น คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบเห็นว่าเมื่อรับฟังได้ว่านายแฉล้ม อยู่คำ บิดาจำเลยได้เข้าปลูกบ้านในที่ดินแปลงพิพาทและอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวตลอดมาจนถึงแก่กรรม จากนั้นจำเลยก็ได้เข้ารับมรดกที่ดินแปลงพิพาทและอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวตลอดมาเช่นนี้แล้วแม้โจทก์ทั้งสามและจำเลยจะตกลงกันไม่ได้ว่าจะแบ่งให้ใครได้ส่วนแบ่งตรงไหนในที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม เมื่อศาลเห็นว่าหากการแบ่งนั้นถึงกับต้องให้จำเลยรื้อบ้านที่เป็นของจำเลยและจำเลยได้อาศัยอยู่ตลอดมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ออกไปอันเป็นการเดือดร้อนแก่จำเลยแล้วศาลย่อมใช้ดุลพินิจให้แบ่งที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลยตรงที่บ้านจำเลยปลูกอาศัยอยู่นั้นได้ โดยให้ไม่เกินกว่าจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยได้รับส่วนแบ่ง หาจำต้องสั่งให้ทำการประมูลหรือขายทอดตลาดที่ดินแปลงพิพาทแล้วเอาเงินแบ่งให้โจทก์ทั้งสามและจำเลยตามส่วนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364ทุกกรณีไปไม่ ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าหากให้เอาที่ดินแปลงพิพาทประมูลหรือขายทอดตลาดแล้วเอาเงินแบ่งให้โจทก์ทั้งสามและจำเลยตามส่วนแล้วจำเลยอาจจะต้องรื้อบ้านออกไปเป็นการเดือดร้อนแล้วศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยได้ส่วนแบ่งทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของที่ดินแปลงพิพาทได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share