คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7900/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรลำดับที่ 4 และที่ 5 เนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิยื่นใบเบิกเงินและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าว เพราะขัดต่อ พ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร พ.ศ.2523 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 6 ซึ่งการที่จำเลยใช้สิทธิเบิกและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าวเป็นผลจากนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกับจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการของหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ มิใช่นิติสัมพันธ์ในทางแพ่ง และเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไปดังกล่าวก็มิใช่กรณีโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่โจทก์ที่มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินดังกล่าวทราบว่าจำเลยเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรเกินสามคน ทำให้เจ้าหน้าที่โจทก์จ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตรของจำเลยลำดับที่ 4 และที่ 5 เกินกว่าสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับเงินไปยึดถือโดยไม่ชอบ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ การเรียกร้องเงินที่จำเลยได้รับไปโดยไม่ชอบดังกล่าว หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในฐานลาภมิควรได้ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 419
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 69,246.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 60,160 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 60,160 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะยื่นฟ้องมีนายณรงค์ เป็นปลัดกระทรวงมีอำนาจบริหารราชการกระทำการแทนโจทก์ได้ จำเลยรับราชการตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการในสังกัดของโจทก์ เมื่อปี 2522 จำเลยจดทะเบียนสมรสกับนางกาญจนา ภริยาคนแรกซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดเดียวกันกับจำเลย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กชายหรือนายจักรพันธ์ เกิดวันที่ 8 มีนาคม 2523 บุตรลำดับที่ 1 และเด็กหญิงหรือนางสาวจุฬาลักษณ์ เกิดวันที่ 14 พฤษภาคม 2530 บุตรลำดับที่ 2 ตั้งแต่ปี 2526 คาบเกี่ยวกับช่วงเกิดบุตรลำดับที่ 2 จำเลยไปอยู่กินฉันสามีภริยากับนางกัลยา ภริยาคนที่ 2 ซึ่งไม่ได้รับราชการ และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ต่อมาปี 2531 จำเลยแยกกันอยู่กับนางกาญจนาโดยมิได้จดทะเบียนหย่ากัน ขณะนั้นบุตรลำดับที่ 1 และที่ 2 อยู่ในความปกครองดูแลของนางกาญจนาซึ่งเป็นมารดาและนางกาญจนาเป็นผู้ใช้สิทธิเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาให้แก่บุตรทั้งสองคนดังกล่าว จำเลยกับนางกัลยามีบุตรด้วยกัน 3 คน คือเด็กหญิงหรือนางสาวชนากาญจน์ เด็กหญิงหรือนางสาวชุดากานต์ และเด็กหญิงอัจฉพร สำหรับเด็กหญิงหรือนางสาวชนากาญจน์ เกิดวันที่ 11 พฤศจิกายน 2531 เป็นบุตรลำดับที่ 3 ของจำเลย โดยจำเลยจดทะเบียนรับรองบุตรคนนี้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2533 ส่วนเด็กหญิงหรือนางสาวชุดากานต์ เกิดวันที่ 13 พฤษภาคม 2537 เป็นบุตรลำดับที่ 4 ของจำเลย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2538 จำเลยกับนางกาญจนาจดทะเบียนหย่ากัน จากนั้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยจดทะเบียนสมรสใหม่กับนางกัลยา และมีบุตรด้วยกันอีก 1 คน คือ เด็กหญิงอัจฉพร เกิดวันที่ 20 ตุลาคม 2541 เป็นบุตรลำดับที่ 5 ของจำเลย เมื่อปี 2549 กรมบัญชีกลางแจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูนจัดทำข้อมูลบุคลากรภาครัฐในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในระบบจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งข้อมูลบุคคลในครอบครัวของจำเลย ต่อมาปี 2552 กรมบัญชีกลางจัดทำโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพเงินเดือนและเงินสวัสดิการเพื่อให้ส่วนราชการสามารถตรวจสอบสิทธิต่าง ๆ รวมทั้งข้าราชการในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูนโดยปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวให้ทันสมัย และนำฐานข้อมูลไปใช้ตรวจสอบสิทธิของข้าราชการเกี่ยวกับการได้รับเงินสวัสดิการอื่น ๆ นอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาล จากการตรวจสอบปรากฏว่าจำเลยยื่นขอรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตรของจำเลยทั้งห้าคน ซึ่งเกินสิทธิไปสองคนคือในส่วนของเด็กหญิงหรือนางสาวชุดากานต์ บุตรลำดับที่ 4 และเด็กหญิงอัจฉพร บุตรลำดับที่ 5 รวมเป็นเงิน 60,160 บาท ตามสำเนาบันทึกทะเบียนประวัติ หนังสือศาลากลางจังหวัดลำพูน หนังสือกรมบัญชีกลาง และหลักฐานเอกสารประกอบการเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร ต่อมาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูนมีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยเพิกเฉย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรลำดับที่ 4 และที่ 5 เนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะยื่นใบเบิกเงินและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าว ทั้งนี้เพราะขัดต่อพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร พ.ศ.2523 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 6 ซึ่งกำหนดให้ข้าราชการมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรเพียงคนที่หนึ่งถึงคนที่สามเท่านั้น โดยให้นับเรียงลำดับการเกิดก่อนหลัง ทั้งนี้ ไม่ว่าเป็นบุตรที่เกิดจากการสมรสครั้งใด หรืออยู่ในอำนาจปกครองของตนหรือไม่ การที่จำเลยใช้สิทธิเบิกและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าวเป็นผลจากนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกับจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการของหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ มิใช่นิติสัมพันธ์ในทางแพ่ง และเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไปดังกล่าวก็มิใช่กรณีโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่โจทก์ที่มีอำนาจอนุมัติและจ่ายเงินดังกล่าวทราบว่า จำเลยเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรเกินสามคน ทำให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตรของจำเลยลำดับที่ 4 และที่ 5 เกินกว่าสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับเงินไปยึดถือโดยไม่ชอบ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ การเรียกร้องเงินที่จำเลยได้รับไปโดยไม่ชอบดังกล่าว หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในฐานลาภมิควรได้ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยและจำเลยอ้างมาในฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share