คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3129/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ใช้มีดดาบปลายแหลมยาวประมาณ 1 แขนฟันศีรษะโจทก์ร่วม 2 ที โจทก์ร่วมยกแขนซ้ายขึ้นรับ คมมีดไม่ถูกศีรษะแต่ถูกหลังมือซ้ายระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับโคนนิ้วกลางทำให้เอ็นขาด และถูกแขนซ้ายท่อนบนมีบาดแผลกว้างครึ่งเซนติเมตร ยาว 2เซนติเมตร เมื่อโจทก์ร่วมวิ่งหนีแล้วสะดุดล้มลง จำเลยทั้งสองวิ่งตามมา โจทก์ร่วมถูกฟันที่ศีรษะอีก 1 ที มีบาดแผลกว้างครึ่งเซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร เมื่อ ส.จะเข้าช่วยก็ถูกจำเลยที่ 2 ผลักล้มคว่ำลง แล้วใช้ขวานหน้ากว้างประมาณ 3 นิ้ว ด้ามยาวประมาณ 1 ฟุตฟันที่กกหูด้านซ้ายมีบาดแผลที่เหนือใบหู 1 แผลกว้าง 3 เซนติเมตร ยาว 8 เซนติเมตร และที่หลังใบหูมีบาดแผลกว้าง1 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร แม้มีดดาบของจำเลยที่ 1 กับขวานของจำเลยที่ 2 อาจใช้ทำร้ายบุคคลให้ถึงแก่ความตายได้ แต่ไม่ปรากฏว่าบาดแผลทุกแผลของโจทก์ร่วมกับ ส.ลึกเท่าใด กะโหลกศีรษะของบุคคลทั้งสองแตกหรือไม่ เนื้อสมองได้รับอันตรายหรือไม่ โจทก์ร่วมรับการรักษาที่โรงพยาบาล 20 กว่าวันแล้วกลับไปรักษาตัวที่บ้านไม่ปรากฏว่ารักษานานเท่าใด ส่วน ส.รับการรักษาที่โรงพยาบาล4 วันแล้วกลับบ้าน แต่ต้องมาทำแผลอีก 1 เดือนเศษ พิจารณาถึงบาดแผลของโจทก์ร่วมกับ ส.ทุกแผลแล้วเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองมิได้ฟันโจทก์ร่วมกับ ส.อย่างแรง นอกจากนี้เมื่อโจทก์ร่วมวิ่งหนีแล้วสะดุดล้มลงและถูกจำเลยคนหนึ่งฟันที่ศีรษะอีก 1 ทีแล้วก็ไม่ฟันซ้ำอีกทั้งที่มีโอกาสจะฟันซ้ำได้ พฤติการณ์เหล่านี้ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมกับ ส.คงมีเจตนาทำร้ายบุคคลทั้งสองเท่านั้น เมื่อโจทก์ร่วมกับ ส.ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้มีดและขวาน พยายามฆ่านายสมพร และนายปรีชา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288, 80 และ 83 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ นายปรีชา ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้น จำคุกจำเลยทั้งสองตามฟ้องคนละ 12 ปีจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้มีดดาบฟันโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 ได้ใช้ขวานฟันนายสมพร ทาวิชาติ จริงและวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ในปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นหรือไม่นั้น ปรากฏที่ร้านนายล้วนจำเลยที่ 1 ใช้มีดดาบปลายแหลมยาวประมาณ 1 แขน ฟันศีรษะโจทก์ร่วม2 ที โจทก์ร่วมยกแขนซ้ายขึ้นรับทุกที ทำให้คมมีดไม่ถูกศีรษะแต่ถูกหลังมือซ้าย ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับโคนนิ้วกลาง ทำให้เอ็นขาดและถูกแขนซ้ายท่อนบนทำให้มีบาดแผลกว้างครึ่งเซนติเมตรยาว 2 เซนติเมตร เมื่อโจทก์ร่วมวิ่งหนีออกจากร้านนายล้วนได้ประมาณ 10 วา ก็สะดุดล้มลง จำเลยทั้งสองวิ่งตามมา โจทก์ร่วมถูกฟันที่ศีรษะอีก 1 ที ทำให้มีบาดแผลกว้างครึ่งเซนติเมตร ยาว 2เซนติเมตร นายสมพรผู้เสียหายจะเข้าช่วยโจทก์ร่วมก็ถูกจำเลยที่ 2 ผลักล้มคว่ำลง จำเลยที่ 2 นั่งคร่อมแล้วใช้ขวานหน้ากว้างประมาณ 3 นิ้ว ด้ามยาวประมาณ 1 ฟุต ฟันนายสมพรผู้เสียหายที่กกหูด้านซ้ายทำให้มีบาดแผลที่เหนือใบหู 1 แผล กว้าง 3 เซนติเมตรยาว 8 เซนติเมตร และที่หลังใบหูมีบาดแผลกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว3 เซนติเมตร แม้มีดดาบของจำเลยที่ 1 กับขวานของจำเลยที่ 2 อาจใช้ทำร้ายบุคคลให้ถึงแก่ความตายได้ แต่ในทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าบาดแผลทุกแผลของโจทก์ร่วมกับนายสมพรผู้เสียหายลึกเท่าใด กะโหลกศีรษะของบุคคลทั้งสองแตกหรือไม่ เนื้อสมองได้รับอันตรายอย่างไรหรือไม่ เพราะโจทก์มิได้นำแพทย์ผู้รักษาบุคคลทั้งสองมาเบิกความโจทก์ร่วมรับการรักษาที่โรงพยาบาล 20 กว่าวัน แล้วกลับไปรักษาตัวที่บ้าน ไม่ปรากฏว่ารักษาที่บ้านนานเท่าใด นายสมพรผู้เสียหายรับการรักษาที่โรงพยาบาล 4 วัน แล้วกลับบ้านแต่ต้องมาทำบาดแผลอีก 1 เดือนเศษ เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้มีดดาบฟัน โจทก์ร่วมยกมือซ้ายขึ้นรับ คมมีดถูกหลังนิ้ว นิ้วไม่ขาด เพียงแต่เอ็นขาดเท่านั้นพิจารณาถึงบาดแผลของโจทก์ร่วมกับของนายสมพรผู้เสียหายทุกแผลแล้ว เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองมิได้ฟันโจทก์ร่วมกับนายสมพรผู้เสียหายอย่างแรง นอกจากนี้เมื่อโจทก์ร่วมวิ่งหนีออกจากร้านนายล้วนไปได้ประมาณ 10 วา แล้วสะดุดล้มลงก็ถูกจำเลยคนใดคนหนึ่งซึ่งทางพิจารณาไม่ได้ความชัดว่าเป็นจำเลยคนใดฟันที่ศีรษะอีก 1 ทีแล้วไม่ฟันซ้ำอีก ทั้งที่มีโอกาสจะฟันซ้ำได้ เพราะไม่มีผู้ใดขัดขวางแต่จำเลยทั้งสองก็ไม่กระทำเช่นนั้น พฤติการณ์เหล่านี้ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมกับนายสมพรผู้เสียหาย คงมีเจตนาทำร้ายบุคคลทั้งสองเท่านั้น เมื่อโจทก์ร่วมกับนายสมพรผู้เสียหายต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น”
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(8) จำคุกคนละ 4 ปี

Share