คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6099/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้อง มิใช่เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว ผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจะเป็นผู้ใดหามีความสำคัญไม่ พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120
จำเลยกรอกใบสมัครเพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าจำเลยจบการศึกษาประโยคชั้นมัธยม ศึกษาตอนปลาย ความจริงแล้วจำเลยไม่ได้จบการศึกษาชั้นดังกล่าว อันเป็นการแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานผู้รับสมัครเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 กับแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือตามแผนการศึกษาของชาติใน ความหมายของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 19(1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2523 มาตรา 6 นั้น หมายถึงหลักสูตรหรือแผนการศึกษาของชาติในขณะที่บุคคลนั้น ๆ สอบไล่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยสอบไล่ได้ตามหลักสูตรประโยคมัธยมวิสามัญศึกษาตอนปลายมัธยมปีที่ 6 ในปี พ.ศ.2503 ซึ่งขณะนั้นแผนการศึกษาของชาติที่ใช้บังคับอยู่คือแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2494 สำหรับชั้นมัธยมศึกษาแยกออกเป็น 3 สาย ในสาย ข.มัธยมวิสามัญศึกษาซึ่งมีชั้นมัธยมวิสามัญตอนปลายเพียงแค่มัธยมปีที่ 6 เท่านั้น จึงถือว่าจำเลยสอบไล่ได้ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามแผนการศึกษาของชาติ พ.ศ.2494 แล้ว จำเลยจึงเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 19(1) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 ที่แก้ไขแล้ว การที่จำเลยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้จะกรอกคุณสมบัติทางการศึกษาลงในใบสมัครไม่ตรงต่อความจริง ก็ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 26
การที่จำเลยกระทำผิดโดยแจ้งคุณสมบัติทางการศึกษาเป็นเท็จเป็นเพราะจำเลยเข้าใจผิดว่าตนไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งความจริงแล้วจำเลยมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย เมื่อคำนึงถึงสภาพความผิดและพฤติการณ์สิ่งแวดล้อมแล้ว สมควรรอการลงโทษไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๖, ๘๔ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑, ๑๓๗, ๒๖๗ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔ ริบของกลาง กับสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด ๑๐ ปี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๗, ๒๖๗ กรรมหนึ่ง พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๖, ๘๔ กรรมหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ และ ๒๖๗ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ บทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๒ ปี และปรับ ๔,๐๐๐ บาท ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๘๔ จำคุก ๑ ปี รวมจำคุกจำเลย ๓ ปี ปรับ ๔,๐๐๐ บาท รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด ๒ ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ริบของกลาง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด ๑๐ ปี คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ ไม่ปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้อแรกที่ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมิใช่ผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๖, ๘๔ จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ มิใช่เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้วพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐ ผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้จะเป็นผู้ใดหามีความสำคัญไม่ ฉะนั้นที่จำเลยฎีกาโต้เถียงว่าพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเรียนจบและสอบไล่ได้ตามหลักสูตรประโยคชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนชุณหวันวิทยานุสรณ์ การที่จำเลยกรอกข้อความลงในใบสมัครและแจ้งต่อเจ้าพนักงานว่าจำเลยจบการศึกษาชั้นประโยคมัธยมศึกษาตอน ปลาย และเจ้าพนักงานได้จดข้อความดังกล่าวลงในเอกสารการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดนั้น ในปัญหาดังกล่าวนี้ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่า จำเลยมิได้จบการศึกษาชั้นประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนชุณหวันวิทยานุสรณ์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย การที่จำเลยกรอกใบสมัครว่าจำเลยจบการศึกษาประโยคชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อันเป็นการแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานผู้รับสมัครจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ กับแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ อีกบทหนึ่ง อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่า จำเลยเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมัธยมปีที่ ๖ จากโรงเรียนสุรินทร์ราษฎร์บำรุงเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๐๓ จำเลยจึงมีคุณสมบัติครบถ้วนในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การที่จำเลยสมัครรับเลือกตั้งดังกล่าว จึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๖, ๘๔ ตามที่โจทก์ฟ้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๙(๑) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๓ มาตรา ๖ บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าว จะเป็นผู้สมัครได้ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๘ และมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) เป็นผู้ได้เข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนตามกำหนดเวลา และสอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือตามแผนการศึกษาของชาติ หรือได้เข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาอื่นในประเทศตามกำหนดเวลามาโดยตลอดจนมีความรู้ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่าหรือรับรองว่าเทียบได้ไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวง ศึกษาธิการหรือแผนการศึกษาของชาติ” คำว่า มัธยมศึกษาตอนปลายตามมาตรา ๑๙(๑) นี้ จึงมีความหมาย ๒ ประการคือ มัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการประการหนึ่ง หรือมัธยมศึกษาตอนปลายตามแผนการศึกษาของชาติอีกประการหนึ่ง แต่มาตรา ๑๙(๑) นี้มิได้ระบุว่า หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือแผนการศึกษาของชาติจะต้องเป็นหลักสูตรหรือแผนการศึกษาของชาติในปี พ.ศ.ใดโดยเฉพาะ เมื่อได้พิจารณาถึงถ้อยคำในบทบัญญัติมาตรา ๑๙(๑) เดิม ก่อนที่จะมีการแก้ไขใช้ถ้อยคำว่า “เป็นผู้ได้เข้าอยู่ในโรงเรียนตามกำหนดเวลาและสอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมปีที่ ๘ หรือมัธยมศึกษาปีที่ ๕ หรือ มัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หรือตามแผนการศึกษาของชาติ พ.ศ.๒๕๒๐ แล้วแต่กรณี ฯลฯ” บทบัญญัติของมาตรา ๑๙(๑) ที่แก้ไขใหม่นี้ได้ตัดข้อความว่า “ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ หรือมัธยมศึกษาปีที่ ๕” และ “พ.ศ.๒๕๒๐” ท้ายข้อความว่า “ตามแผนการศึกษาของชาติ” ออก แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของบทมาตรา ๑๙ผ๑) ซึ่งได้แก้ไขให้แตกต่างไปจากบทบัญญัติเดิมว่ ไม่ประสงค์จะให้ผู้สมัครต้องสอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ หรือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ หรือในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายตามแผนการศึกษาของชาติ พ.ศ.๒๕๒๐ แต่ประการใด ดังนั้นคำว่าหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือแผนการศึกษาของชาติตามมาตรา ๑๙(๑) ที่ได้แก้ไขแล้ว จึงหมายถึงหลักสูตรหรือแผนการศึกษาของชาติในขณะที่บุคคลนั้น ๆ สอบไล่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ ๖ ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ ซึ่งขณะนั้นแผนการศึกษาของชาติที่ใช้บังคับอยู่คือ แผนการศึกษาชาติ พ.ศ.๒๔๙๔ ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็นขั้น ๆ คือ
ก. การศึกษาชั้นอนุบาล
ข. ประถมศึกษา
ค. มัธยมศึกษา
ง. เตรียมอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาชั้นสูง
จ. อุดมศึกษาและมหาวิทยาลัย
สำหรับชั้นมัธยมศึกษาแยกออกเป็น ๓ สาย คือ
ก. มัธยมสามัญศึกษา…ฯลฯ…
ข. มัธยมวิสามัญศึกษา ได้แก่การศึกษาวิชาซึ่งเป็นพื้นความรู้สำหรับไปศึกษาต่อในชั้นเตรียมอุดมศึกษา หรืออาชีวศึกษา จัดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมวิสามัญตอนต้น ปีที่ ๑ ถึงปีที่ ๓ และชั้นมัธยมวิสามัญตอนปลายปีที่ ๔ ถึงปีที่ ๖
ค. มัธยมอาชีวศึกษา…ฯลฯ…
ดังนี้ มัธยมศึกษาตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.๒๔๙๔ ในสาย ข.มัธยมวิสามัญศึกษา จึงมีชั้นมัธยมวิสามัญตอนปลายเพียงแค่มัธยมปีที่ ๖ เท่านั้น เมื่อจำเลยสอบไล่ชั้นมัธยมปีที่ ๖ ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ จึงถือว่าจำเลยสอบไล่ได้ระดับมัธยมศึกาตอนปลายตามแผนการศึกษาของชาติ พ.ศ.๒๔๙๔ แล้ว จำเลยจึงเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙(๑) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้จะกรอกคุณสมบัติทางการศึกษาลงในใบสมัครไม่ตรงต่อความจริง ก็ไม่เป็นความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้นเมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๖ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่าความผิดดังกล่าวจะเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ และมาตรา ๒๖๗ หรือไม่
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยได้เคยรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ ได้ทำงานเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตริตาภรณ์ช้างเผือก การที่จำเลยกระทำผิดคดีนี้ โดยแจ้งคุณสมบัติทางการศึกษาเป็นเท็จ เชื่อว่าเป็นเพราะจำเลยเข้าใจผิดว่าตนไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งความจริงแล้วจำเลยมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงสภาพความผิดและพฤติการณ์สิ่งแวดล้อมแล้วเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวประพฤติตนเป็นพล เมืองดีต่อไป โดยให้รอการลงโทษไว้
พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกของจำเลยสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ให้ยกฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ และไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share