คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3601/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถานแล้วจึงพบเห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องรวมกันมาทั้ง ๆ ที่แต่ละคนสามารถฟ้องได้โดยลำพัง น่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมศาลจึงกำหนดเวลาให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้อง เป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) มิใช่คำสั่งตามมาตรา 18 วรรคสอง เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นการทิ้งฟ้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียได้
กรณีทิ้งฟ้องไม่เข้าเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา 151 ที่ศาลจะมีอำนาจสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาล
เมื่อทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันได้ แต่โจทก์ฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียว ดังนี้ จะต้องคำนวณค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้อง มิใช่เสียค่าขึ้นศาลรวมกัน โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 5 ว่าจำเลยยักย้ายทรัพย์มรดกคิดเป็นเงิน 76,000,000 บาท ข้อ 6 ราคาทรัพย์มรดกตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ 8-15 รวมเป็นเงิน 52,180,000 บาท โจทก์ได้ตามข้อนี้คนละ 4,348,333.33 บาท รวมทั้งข้อ 5 ข้อ 6 โจทก์ 5 คนได้รวมกัน 97,741,666.66 บาทเห็นได้ชัดว่า โจทก์เรียกร้องมาคนละ 19,548,333.33 บาท ซึ่งโจทก์แต่ละคนต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (ก) คนละ 200,000 บาท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์และจำเลยทุกคนเป็นทายาทของนายจินดาเจ้ามรดก ทายาทร่วมกันปกครองมรดกจำนวน 128,180,000 บาท ฝ่ายจำเลยร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับ 1-7 จำนวน 76,000,000 บาท จึงถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกในส่วนนี้ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ถูกกำจัดจำนวน 76,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและให้จำเลยร่วมกันแบ่งทรัพย์มรดกที่เหลือให้โจทก์ทั้งห้า 5 ใน 12 ส่วนเป็นเงิน 21,741,666.66 บาท จำเลยให้การว่าทรัพย์มรดกทั้งหมดตกได้แก่ฝ่ายจำเลย และได้จัดการมรดกเสร็จแล้วขอให้ยกฟ้อง
วันนัดไต่สวนคำขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราว ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์รวมเสียค่าขึ้นศาลมาไม่ถูกต้อง จึงสั่งให้โจทก์แต่ละคนเสียค่าขึ้นศาลในส่วนของตนคนละ 200,000 บาทภายใน 30 วัน โจทก์ไม่ชำระค่าขึ้นศาลภายในกำหนดดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้า
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นได้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาแล้วจำเลยให้การและศาลนัดชี้สองสถานแล้ว จึงได้พบเห็นว่าการที่โจทก์ฟ้องรวมกันมาทั้ง ๆ ที่แต่ละคนสามารถฟ้องได้โดยลำพังตนเองน่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมศาลจึงได้กำหนดเวลาให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมศาลเสียให้ถูกต้อง อันเป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174 (2) ไม่ใช่มาตรา 18 วรรคสอง เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามก็เป็นการทิ้งฟ้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 132 ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ โดยไม่ต้องวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีคำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว
เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่ากรณีมิใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18แต่เป็นเรื่องที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เป็นการทิ้งฟ้องตามมาตรา 174 (2) จึงไม่เข้าเหตุใดเหตุหนึ่งที่ศาลจะมีอำนาจสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลให้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 151 ดังนั้นในกรณีนี้ศาลจึงไม่อาจสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลให้โจทก์ได้
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 5 ว่าจำเลยยักย้ายทรัพย์มรดกคิดเป็นเงิน 76,000,000 บาท ข้อ 6 ราคาทรัพย์มรดกตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ 8-14 รวมเป็นเงิน 52,180,000 บาทโจทก์ได้ตามข้อนี้คนละ 4,348,333.33 บาทรวมทั้งข้อ 5 ข้อ 6 โจทก์ 5 คนได้รวมกัน97,741,666.66 บาทเห็นว่าในกรณีที่ทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันได้ หรือโจทก์แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องเป็นของตนเองสามารถจะฟ้องคดีได้โดยลำพังตนเองแล้ว หากโจทก์จะฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียวตามที่โจทก์อาจจะเห็นว่าเป็นความสะดวก แต่การพิจารณาค่าขึ้นศาลก็ต้องคำนวณตามทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้อง มิใช่ว่าถ้าฟ้องรวมกันมาในคดีเดียว ทั้ง ๆ ที่อาจจะแยกฟ้องได้ก็จะเสียค่าขึ้นศาลรวมกันมิฉะนั้นแล้วโจทก์แต่ละคนก็อาจจะหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาลได้การฟ้องรวมกันหรือแยกกันไม่มีผลทำให้ค่าขึ้นศาลเปลี่ยนแปลงแต่อย่างไร คดีนี้คำเรียกร้องของโจทก์เห็นได้ชัดเจนว่า โจทก์เรียกร้องมาคนละ 19,548,333.33 บาทซึ่งโจทก์แต่ละคนต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง (1) (ก) คนละ 200,000 บาท
พิพากษายืน.

Share