คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายบุคคลนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้อย่างชัดแจ้งโดยเฉพาะในมาตรา 31 วรรคหนึ่งที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายและวรรคสามว่า การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือกระทำการใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมาตรา 26ที่บัญญัติว่า การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ดังนั้น การปฏิบัติตามมาตรา 240 ตลอดจนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 อันเป็นบทบัญญัติให้ศาลตรวจสอบว่ามีการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลดังกล่าว จึงต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกคุมขังเป็นสำคัญเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่าอาจมีการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ถือว่ามีมูลที่ศาลจะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 240 ผู้เสียหายมอบอำนาจให้ บ. ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540ส.กับพวกคือพ.ร. และ น. ได้ร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ แต่เจ้าพนักงานตำรวจทำการจับ อ. ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2540และควบคุมตัว อ. ตลอดมาจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2540จึงขอฝากขังครั้งที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาวันที่28 พฤศจิกายน 2540 ผู้ร้องซึ่งเป็นทนายความของ อ.ยื่นคำร้องอ้างว่าการจับและคุมขังระหว่างสอบสวนดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีการออกหมายจับอ. และปรากฏตามข้อมูลเบื้องต้นเพียงว่าผู้ถูกร้องทุกข์กล่าวหาว่ากระทำความผิดมีเพียง 4 คน ไม่ปรากฏชัดว่ามีเหตุตามสมควรว่าควรนำตัว อ. มาสอบสวนดำเนินคดีด้วยแต่อย่างใดหรือไม่ ไม่ปรากฏว่า อ. ตกเป็นผู้ต้องหาซึ่งถูกสงสัยโดยมีเหตุอันสมควรที่จะออกหมายจับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66(2) ไม่ปรากฏว่าการจับ อ. เป็นการจับเพราะกระทำความผิดซึ่งหน้าหรือพบอ.กำลังพยายามกระทำความผิดหรือพบอ. โดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า อ. จะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถใช้ในการกระทำความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า อ. ได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี จึงไม่ใช่กรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 78(1)(2) และ (3) ทั้งผู้เสียหายก็ไม่ได้ร้องทุกข์ว่าอ.ร่วมกับส. กระทำความผิด พฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีข้อสงสัยตามสมควรว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับและควบคุม อ.โดยถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ ทั้งหากการจับ อ.ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจที่จะควบคุมอ. ต่อเนื่องจากการจับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายขังในระหว่างสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ได้ ซึ่งหากศาลสั่งให้ผู้คุมขังหรือผู้ก่อให้เกิดการคุมขังนำตัว อ.มาเพื่อให้บุคคลดังกล่าวแสดงข้อมูลหรือพยานหลักฐานจะทำให้ปรากฏแน่ชัดว่ามีการจับหรือคุมขังโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และศาลก็สามารถพิจารณาถึงเหตุในการจับและคุมขังตลอดจนพฤติการณ์และขั้นตอนในการคุมขังให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้อย่างสมบูรณ์สมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลดังกล่าวแล้ว ดังนี้ ถือได้ว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลที่ศาลจะดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 240

ย่อยาว

ผู้ร้องซึ่งเป็นทนายความของนายอนันต์ โพธิ์ทอง ยื่นคำร้องว่าเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลยานนาวาได้ดำเนินการจับตัวนายอนันต์ โพธิ์ทอง ไปกักขังควบคุมตัวเพื่อดำเนินคดีในข้อหาบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ซึ่งการจับดังกล่าวได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อ พ.ศ. 2534 นางจุไรรัตน์ ทัดตวรได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 496 ถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำร้องขอของนางจุไรรัตน์ แต่นางจุไรรัตน์ยังนำที่ดินดังกล่าวบางส่วนไปให้นางดารณีเช่า ซึ่งทั้งนางจุไรรัตน์และนางดารณีไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินดังกล่าวต่อมานางดารณีและนางจุไรรัตน์มอบอำนาจให้นายบุญยืน ยังบุญสุขไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลยานนาวาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 ว่า วันที่ 2 ตุลาคม 2540และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 นายแสวง วัณณสุโภประสิทธิ์นายเสาร์ ชินระหงษ์ นายสุพรรณ ยอดกันตรี และนายหนูไม่ทราบนามสกุล ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินและลักเอาเก้าอี้ไป 10 ตัวกับทำลายประตูรั้วและนายแสวงผู้เดียวได้ลักเอาเทวรูปของนางจุไรรัตน์ไปด้วย การที่เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลยานนาวาได้ทำการจับนายอนันต์ โพธิ์ทอง มาคุมขังโดยที่มิได้มีการแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่นายอนันต์แต่อย่างใดจึงเป็นการไม่ชอบ ขอให้ศาลไต่สวนและดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 240
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลที่จะดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 240 ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลที่จะดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 240 หรือไม่ เห็นว่าสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายบุคคลนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้อย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะในมาตรา 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และวรรคสามบัญญัติว่า การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมาตรา 26 ก็บัญญัติว่าการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ดังนี้ การปฏิบัติตามมาตรา 240ตลอดจนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 อันเป็นบทบัญญัติให้ศาลตรวจสอบว่ามีการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลดังกล่าวจึงต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้คุมขังเป็นสำคัญ ฉะนั้นเมื่อมีเหตุอันสมควรเชื่อว่าอาจมีการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ถือว่ามีมูลที่ศาลจะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 240 สำหรับกรณีการจับและคุมขังนายอนันต์ โพธิ์ทอง ระหว่างสอบสวนคดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของสถานีตำรวจนครบาลยานนาวาเอกสารหมาย ร.2 ว่า ผู้เสียหายมอบอำนาจให้นายบุญยืน ยังบุญสุขไปแจ้งความต่อพันตำรวจตรีวิทยา กิจกำจร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2540ว่า ระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540นายแสวง วัณณสุโภประสิทธิ์ กับพวกคือนายสุพรรณ ยอดกันตรีนายเสาร์ ชินระหงษ์ และนายหนู ไม่ทราบนามสกุล ได้ร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ และข้อเท็จจริงปรากฏตามคำขอฝากขังนายอนันต์ต่อศาลครั้งที่ 1 ลงวันที่26 พฤศจิกายน 2540 ในสำนวนกับเอกสารหมาย ร.2 ว่าร้อยตำรวจเอกดิลก รื่นเนตร รองสารวัตรสืบสวนสอบสวนได้ทำการจับนายอนันต์ โพธิ์ทอง ที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวาแขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน2540 จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวนายอนันต์ตลอดมาจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2540 จึงขอฝากขังครั้งที่ 1ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่าการจับและคุมขังระหว่างสอบสวนดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมายจากข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีการออกหมายจับนายอนันต์ และตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.2ปรากฏข้อมูลเบื้องต้นเพียงว่าผู้ถูกร้องทุกข์กล่าวหาว่ากระทำความผิดมีเพียง 4 คน ไม่ปรากฏชัดว่ามีเหตุตามสมควรว่าควรนำตัวนายอนันต์มาสอบสวนดำเนินคดีด้วยอย่างใดหรือไม่ไม่ปรากฏว่านายอนันต์ตกเป็นผู้ต้องหาซึ่งถูกสงสัยโดยมีเหตุอันสมควรที่จะออกหมายจับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 66(2) ไม่ปรากฏว่าการจับนายอนันต์เป็นการจับเพราะกระทำความผิดซึ่งหน้าหรือพบนายอนันต์กำลังพยายามกระทำความผิดหรือพบนายอนันต์โดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่านายอนันต์จะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถใช้ในการกระทำความผิด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่านายอนันต์ได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี จึงไม่ใช่กรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจะจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(1)(2) และ (3)ส่วนที่ระบุในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่านายบุญยืนแจ้งให้จับโดยได้มีการร้องทุกข์ไว้แล้ว ก็ปรากฏว่าผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ว่านายอนันต์ร่วมกับนายแสวงกระทำความผิดดังกล่าวแล้วพฤติการณ์ดังกล่าวมามีข้อน่าสงสัยตามสมควรว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติในการจับกุมและควบคุมนายอนันต์ผู้ถูกจับโดยถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ ทั้งหากการจับนายอนันต์ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจที่จะควบคุมตัวนายอนันต์ต่อเนื่องจากการจับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายขังในระหว่างสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ได้ซึ่งหากศาลสั่งให้ผู้คุมขังหรือผู้ก่อให้เกิดการคุมขังนำตัวนายอนันต์มาเพื่อให้บุคคลดังกล่าวแสดงข้อมูลหรือพยานหลักฐานจะทำให้ปรากฏแน่ชัดว่า มีการจับหรือคุมขังโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และศาลก็สามารถพิจารณาถึงเหตุในการจับกุมและคุมขังตลอดจนพฤติการณ์และขั้นตอนในการคุมขังให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้อย่างสมบูรณ์สมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลดังกล่าวแล้วจากพฤติการณ์ดังที่ได้วินิจฉัยมาถือได้ว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลที่ศาลจะดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 240 ฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า คำร้องของผู้ร้องมีมูลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 240 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หากได้ความว่ายังมีการคุมขังนายอนันต์ โพธิ์ทอง อยู่ และผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจศาลชั้นต้นไม่ได้ว่าการคุมขังนั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายให้ศาลชั้นต้นสั่งปล่อยนายอนันต์ไปทันที

Share