แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ร. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฟ. จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะส่วนตัว โดยไม่ปรากฏว่า ร. ได้บอกกล่าวทายาทของ ฟ. ทุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวโดยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ย่อมถือได้ว่า ร. ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ฟ. แทนทายาทอื่นและเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกจนกระทั่ง ร. ถึงแก่ความตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาจาก ร. ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ฟ. เช่นเดียวกัน ประกอบกับที่ดินของ ฟ. อีกแปลงหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าได้มีการแบ่งปันแก่ทายาทแล้ว แสดงว่าทรัพย์มรดกของ ฟ. ยังจะต้องมีการแบ่งปันแก่ทายาท การจัดการมรดกของ ฟ. ยังไม่เสร็จสิ้น อายุความที่ห้ามมิให้ทายาทฟ้องภายในห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงจึงยังไม่เริ่มนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิติดตามเอาที่ดินพิพาทคืนเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทได้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 241 ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นมรดกของนายฟื้น ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันเพิกถอนการทำนิติกรรมและจดทะเบียนสิทธิประเภทรับมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 241 ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2533 จากชื่อนางระเบียบเป็นชื่อนายฟื้น หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้จำเลยที่ 5 ไปดำเนินการเพิกถอนบันทึกการจดทะเบียนข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมการจดทะเบียนสิทธิดังกล่าวในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 241 ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างนางระเบียบกับจำเลยที่ 5 ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2533 และรายการจดทะเบียนด้านหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับดังกล่าวเสีย หากจำเลยที่ 5 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันเพิกถอนการทำนิติกรรมและจดทะเบียนสิทธิที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 241 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2533 จากชื่อนางระเบียบเป็นชื่อนายฟื้น หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับให้จำเลยที่ 5 ไปดำเนินการเพิกถอนบันทึกการจดทะเบียนข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมการจดทะเบียนสิทธิดังกล่าวในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 241 ระหว่างนางระเบียบกับจำเลยที่ 5 ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2533 และรายการจดทะเบียนด้านหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวเสีย หากจำเลยที่ 5 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 5 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่คู่ความรับกันฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2522 นายฟื้นถึงแก่ความตาย ขณะที่นายฟื้นถึงแก่ความตาย นายฟื้นมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 241 และ 242 เนื้อที่ 22 ไร่ 27 ตารางวา และ 8 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา นายฟื้นมีทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก 3 คน คือนางระเบียบ มารดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 นายเงินและนางสาวปรีดา ต่อมานางระเบียบยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ศาลมีคำสั่งตั้งนางระเบียบเป็นผู้จัดการมรดกของนายฟื้น เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2533 นางระเบียบจดทะเบียนขอรับมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 241 อันเป็นที่ดินพิพาทคดีนี้ มาเป็นชื่อของนางระเบียบในฐานะผู้จัดการมรดกของนายฟื้น แล้วจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อนางระเบียบในฐานะส่วนตัว จากนั้นนางระเบียบจดทะเบียนให้จำเลยที่ 5 ถือกรรมสิทธิ์รวม 1600 ส่วนในที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2534 นางระเบียบถึงแก่ความตาย ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายฟื้น ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายฟื้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า ก่อนนายฟื้นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย นายฟื้นมีทรัพย์มรดกที่ดิน 2 แปลง คือที่ดินพิพาทและที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 242 เมื่อนายฟื้นถึงแก่ความตายที่ดินทั้งสองแปลงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทั้งสามคน โดยทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกันในที่ดินทั้งสองแปลง ต่อมานางระเบียบยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก และศาลมีคำสั่งตั้งนางระเบียบเป็นผู้จัดการมรดกของนายฟื้น โดยคำสั่งศาลระบุว่านายฟื้นมีมรดกเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) รวม 2 แปลง น่าเชื่อว่าที่ดินที่ระบุไว้ในคำสั่งศาลนั้น คือที่ดินพิพาทและที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 242 แสดงว่านางระเบียบย่อมจะต้องทราบดีว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายฟื้นที่จะต้องนำมาแบ่งปันแก่ทายาท แต่นางระเบียบในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนขอรับมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของนางระเบียบในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของนางระเบียบในฐานะส่วนตัว ทั้งไม่ปรากฏว่านางระเบียบได้บอกกล่าวแก่ทายาทของนายฟื้นทุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัว โดยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ย่อมถือได้ว่านางระเบียบครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนายฟื้นแทนทายาทอื่น และเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทในการแบ่งปันมรดกจนกระทั่งนางระเบียบถึงแก่ความตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของนางระเบียบครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาจากนางระเบียบ ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของนายฟื้นเช่นเดียวกัน ประกอบกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 242 อันเป็นทรัพย์มรดกของนายฟื้นอีกแปลงหนึ่งไม่ปรากฏว่าได้มีการแบ่งปันแก่ทายาทแล้ว โดยโจทก์เบิกความว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 242 ยังมีชื่อนายฟื้นเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนั้น ทรัพย์มรดกของนายฟื้นยังจะต้องมีการแบ่งปันแก่ทายาท การจัดการมรดกของนายฟื้นจึงยังไม่เสร็จสิ้น อายุความจึงยังไม่เริ่มนับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิติดตามเอาที่ดินพิพาทคืนเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทได้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ