คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8237/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 กำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ในข้อ 26 ว่า พนักงานคนใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ก็ตาม แต่ก็ยังสามารถตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้าง การทำงานและการเลิกจ้างได้ การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดดังกล่าวตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2544 เป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงกันของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง หาใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 ข้อ 19 (2) ไม่ จึงถือว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151 และ 158) แล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 59 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรและประกาศอธิบดีเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151 และ 158)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยต้องคืนเงินภาษี หัก ณ ที่จ่าย 1,222,543.72 บาท แก่โจทก์ ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร ที่ กค 0711.05/ภค (ที่ถูก ที่ กค 0711.05/ภค 024817) ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2549 และหนังสือแจ้งผลการอุทธรณ์ ที่ กค 0707(อธ.)/598 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 และให้จำเลยคืนเงินภาษีจำนวน 1,222,543.72 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งไม่คืนเงินภาษีอากรตามหนังสือที่ กค 0711.05/ภค (ที่ถูก ที่ กค 0711.05/ภค 024817) ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2549 และหนังสือแจ้งผลการอุทธรณ์ ที่ กค 0707(อธ.)/598 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ให้จำเลยคืนเงินภาษีจำนวน 1,222,543.72 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยมีเพียงประการเดียวว่า เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 ข้อ 26 ระบุว่า “พนักงานคนใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์” โดยข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้กำหนดวิธีเกษียณอายุในกรณีอื่นด้วย ส่วนข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2544 มิใช่เป็นการทำข้อบังคับเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นใหม่ และมิได้ออกมาเพื่อปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 ทั้งไม่มีข้อความตอนใดให้ถือว่าเป็นการเกษียณอายุ กรณีจึงไม่ใช่เป็นการออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) ดังนั้น เงินที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรกำหนดว่า เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) ซึ่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ข้อ 1 (1) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับ กำหนดว่า กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมิได้มีบทบังคับเด็ดขาดว่ากรณีเกษียณอายุจะต้องเป็นกำหนดเวลาทำงานที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เวลาที่ลูกจ้างเริ่มเข้าทำงาน จึงไม่อาจขยายความให้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีอากรได้ กรณีของโจทก์แม้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 จะกำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ในข้อ 26 คือ พนักงานคนใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ก็ตาม แต่ก็ยังสามารถตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้าง การทำงาน และการเลิกจ้างได้ การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดดังกล่าวตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2544 นั้น เป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง อันมีผลให้กำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง ทั้งมิใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 ข้อ 19 (2) จึงถือได้ว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ดังกล่าวแล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 59 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามความในข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share