คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1034/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะมีการหมั้นจะมิได้บัญญัติว่า การหมั้นจะต้องมีของหมั้น แต่การหมั้นก็ควรจะต้องกระทำกันเป็นกิจจะลักษณะและเปิดเผยให้เป็นที่รับรู้ของบุคคลทั่วไป การสู่ขอกันไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการหมั้นกันตามกฎหมาย ดังนี้จำเลยผิดข้อตกลงโจทก์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้สู่ขอและหมั้นนางสาวบุหลัน หูเขียว อายุ 19 ปี บุตรโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประเพณี และตกลงจะทำการสมรสกัน จำเลยที่ 2 กลับแจ้งบอกเลิกการสมรส ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการเตรียมการสมรสไปตามสมควรและโดยสุจริต เป็นเงิน 23,550บาท นางสาวบุหลันได้รับความอับอายกระทบกระเทือนจิตใจถึงกับล้มป่วยเสียสุขภาพ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้ เป็นเงิน 30,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายทั้งสองจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยสู่ขอ ไม่ได้หมั้นและไม่เคยตกลงว่าจะให้จำเลยที่ 1 ทำการสมรสกับนางสาวบุหลัน จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ได้แค่ให้คนไปสู่ขอและตกลงจะให้จำเลยที่ 1 สมรสกับนางสาวบุหลันเท่านั้น แต่ข้อตกลงจะสมรสโดยไม่มีการหมั้นอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรองไว้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนความเสียหายจากจำเลยทั้งสองพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า กฎหมายมิได้ประสงค์บังคับว่าการหมั้นจะต้องมีของหมั้นเสมอไป เมื่อฝ่ายจำเลยหมั้นบุตรโจทก์ แล้วและเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงควรต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนตามฟ้องแก่โจทก์นั้น เห็นว่า แม้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อ้างว่ามีการหมั้นระหว่างนางสาวบุหลันกับจำเลยที่ 1จะมิได้บัญญัติบังคับว่าการหมั้นจะต้องมีของหมั้นดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อมีการหมั้นแล้วฝ่ายใดผิดสัญญากฎหมายบัญญัติให้ฝ่ายนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติให้ชายคู่หมั้นอาจใช้สิทธิเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นซึ่งได้ร่วมประเวณี หรือข่มขืนกระทำชำเราและพยายามข่มขืนกระทำชำเราหญิงคู่หมั้นโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าหญิงได้หมั้นกับชายคู่หมั้นแล้วได้อีกด้วย โดยเหตุที่กฎหมายบัญญัติในเรื่องการหมั้นไว้เป็นพิเศษเช่นนี้ การหมั้นจึงควรจะต้องกระทำกันเป็นกิจจะลักษณะและเปิดเผย ให้เป็นที่รับรู้ของบุคคลทั่วไปข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบเป็นเรื่องนายเหอฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นตัวตั้งตัวตีไปสู่ขอนางสาวบุหลันและตกลงจะให้สินสอดแก่ฝ่ายโจทก์โดยลำพัง กำหนดแต่งงานก็นัดหมายกันเองระหว่างโจทก์กับนายเหอเพียงสองคน ไม่ได้ทำกันเป็นเรื่องเป็นราวโดยเปิดเผย ถือว่าเป็นการสู่ขอกันเฉย ๆ เท่านั้น ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการหมั้นกันตามกฎหมายเมื่อมีแต่การสู่ขอและข้อตกลงว่าจะแต่งงานกันโดยไม่มีการหมั้นจึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรอง แม้จะมีการผิดข้อตกลงโจทก์ก็จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยไม่ได้…”
พิพากษายืน.

Share