คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แต่เดิมจำเลยได้รับอนุญาตทำการขนส่งด้วยรถยนต์โดยสารประจำทาง 3 สาย คือ (1) สายภูเก็ต-นครศรีธรรมราช (2) สายภูเก็ต-ทุ่งสง และ (3) สายกระบี่-ทุ่งสง ต่อมาอธิบดีกรมการขนส่งทางบกได้เพิกถอนใบอนุญาตทำการขนส่งประจำทางสายภูเก็ต-นครศรีธรรมราช เสีย แต่จำเลยยังคงรับคนโดยสารเพื่อสินจ้างต่อจากกระบี่ผ่านทุ่งสงไปยังอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อันอยู่ในเส้นทางสายภูเก็ต-นครศรีธรรมราช ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว เช่นนี้ จึงเป็นการประกอบการขนส่งในเส้นทางที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 65 กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นแต่เพียงการประกอบการขนส่งเกินเลยเส้นทางกระบี่-ทุ่งสง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายคือ จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 ทำการรับส่งคนโดยสารตามรายทางในเส้นทางจังหวัดกระบี่ไปยังอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช โดยเก็บเงินค่าโดยสารเป็นการประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างหรือเพื่อกิจการค้าของตนเองด้วยเครื่องอุปกรณ์การขนส่ง (รถยนต์) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน เป็นหนังสือและเป็นการประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้าง หรือเพื่อกิจการค้าของตนเองด้วยเครื่องอุปกรณ์ขนส่ง (รถยนต์) ในระหว่างใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางของจำเลยที่ 2 สายภูเก็ต-นครศรีธรรมราช ถูกเพิกถอนขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 10, 59, 65

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 65 ปรับ 1,500 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเส้นทางสายภูเก็ต-นครศรีธรรมราช ที่ถูกเพิกถอนเป็นเส้นทางสายเดียวกับเส้นทางสายกระบี่-ทุ่งสง ซึ่งจำเลยที่ 2 ยังได้รับอนุญาตอยู่ การที่จำเลยที่ 2 ทำการขนส่งคนโดยสารด้วยรถยนต์ประจำทางจากจังหวัดกระบี่ไปยังอำเภอทุ่งสง ก็เป็นไปตามเส้นทางที่ได้รับอนุญาตการที่จำเลยที่ 2 ทำการขนส่งเลยเข้าไปยังอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง มาตรา 17อธิบดีกรมการขนส่งทางบกชอบที่จะสั่งให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นเสียก่อน หากยังฝ่าฝืนก็ชอบที่จะสั่งพักใบอนุญาตชั่วคราว หรือเพิกถอนใบอนุญาตเสีย ตามมาตรา 22 จะฟังว่าจำเลยที่ 2 ทำการขนส่งระหว่างที่ใบอนุญาตถูกเพิกถอนตามมาตรา 65 ยังไม่ได้ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย

รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทำความเห็นแย้งว่า จำเลยที่ 2เดินรถหรือประกอบการขนส่งบนเส้นทางตั้งแต่ทุ่งสงจนถึงในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช เป็นการขนส่งบนเส้นทางที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว เป็นความผิดตามมาตรา 65 มิใช่เดินรถผิดเส้นทางที่ได้รับอนุญาต ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ควรพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงแห่งคดีคงฟังได้ตามที่ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ฟังต้องกันมา และจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าจำเลยที่ 2 ได้รับใบอนุญาตทำการขนส่งรถยนต์โดยสารประจำทาง 3 สาย คือ (1) สายภูเก็ต-นครศรีธรรมราช (2) สายภูเก็ต-ทุ่งสง และ (3) สายกระบี่-ทุ่งสง ต่อมาอธิบดีกรมการขนส่งทางบกได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตทำการขนส่งประจำทางสายภูเก็ต-นครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2511 เป็นต้นไปจำเลยที่ 2 จึงยังทำการขนส่งรถยนต์โดยสารประจำทางได้จากภูเก็ตถึงทุ่งสงและจากกระบี่ถึงทุ่งสงเท่านั้น จะเลยไปยังอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้ วันที่ 23 มกราคม 2512 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ได้ทำการขนส่งด้วยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ภ.ก.00602 รับคนโดยสารเพื่อสินจ้างต่อจากอำเภอทุ่งสงไปยังอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นเส้นทางที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตแล้วข้อเท็จจริงเป็นดังนี้จึงมีปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจะเป็นความผิดสถานใดหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าถ้าหากว่าเส้นทางช่วงจากอำเภอทุ่งสงถึงอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จะมิใช่ช่วงหนึ่งของเส้นทางที่จำเลยที่ 2 เคยได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งมาก่อน และถูกเพิกถอนใบอนุญาตนั้นเสียแล้วก็อาจถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงการประกอบการขนส่งเกินเลยเส้นทางระหว่างกระบี่-ทุ่งสง ซึ่งจำเลยที่ 2 ยังได้รับอนุญาตอยู่แต่ข้อเท็จจริงตามที่ได้ความหาเป็นเช่นนั้นไม่ กล่าวคือ เส้นทางที่จำเลยที่ 2 ยังได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งได้นั้น คือ ภูเก็ต-ทุ่งสง และ กระบี่-ทุ่งสง แต่เส้นทางตามใบอนุญาตที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว คือ ภูเก็ต-นครศรีธรรมราช ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 2 ยังขืนประกอบการขนส่งในเส้นทางระหว่างกระบี่ – ทุ่งสง – นครศรีธรรมราช ดังที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา ก็ย่อมถือได้ว่าการประกอบการขนส่งในช่วงระหว่างทุ่งสง-นครศรีธรรมราช นั้น เป็นการประกอบการขนส่งระหว่างที่ใบอนุญาตเพื่อประกอบการขนส่งในเส้นทางช่วงนั้นถูกเพิกถอน จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 65 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share