คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9128/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์คุ้มครองนายจ้างที่ต้องประสบวิกฤตการณ์ในการดำเนินกิจการซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ส่งผลกระทบกระเทือนแก่กิจการของนายจ้างอย่างรุนแรงจนถึงขั้นมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว อันเป็นการให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะไม่ให้ลูกจ้างทั้งหมดหรือบางส่วนทำงานเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อให้นายจ้างมีโอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดไปหรือบรรเทาลง ข้อเท็จจริงได้ความว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 ถึงมิถุนายน 2546 โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าลดลงมากเมื่อเทียบกับในปี 2544 หากโจทก์ยังคงผลิตสินค้าในปริมาณเดิม ก็เห็นได้ชัดว่าโจทก์ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้หมดอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าของโจทก์มีปัญหาด้านเทคโนโลยีที่ไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดได้ หากยังคงผลิตออกมาก็ไม่มีตลาดรองรับ ย่อมเสี่ยงต่อการขาดทุนอันส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะการเงินและความคงอยู่ของกิจการโจทก์ การที่โจทก์ลดการผลิตลงจึงเป็นความจำเป็นโดยเหตุที่มิใช่เหตุสุดวิสัย และการที่โจทก์ลดการผลิตลงด้วยการให้ลูกจ้างสลับกันหยุดงานเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ให้ลูกจ้างบางส่วนทำงาน มีผลเท่ากับโจทก์หยุดการผลิตบางส่วนซึ่งทำให้ผลผลิตลดลง อันเป็นการหยุดกิจการในส่วนที่ต้องลดการผลิตนั้น จึงเป็นการหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราว การที่โจทก์ให้ลูกจ้างสลับกันหยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ครึ่งหนึ่งตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2545 ถึงสิงหาคม 2546 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่โจทก์ได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าลดลงมาก จึงเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง โดยชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์ประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์หัวอ่านคอมพิวเตอร์ให้บริษัทรีท – ไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2540 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ประสบปัญหาทั่วโลกเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง บริษัทแม่และโจทก์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมดังกล่าวตกต่ำ ลูกค้าบริษัทแม่ลดคำสั่งซื้อตั้งแต่ปี 2541 โจทก์แก้ไขปัญหาผลกระทบจากวิกฤตอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านแรงงานใช้วิธีลดเงินเดือนผู้บริหารและการหยุดกิจการบางส่วนโดยจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงาน โดยไม่ลดสวัสดิการ เงินค่าตอบแทนพิเศษ (ค่ากะ) ค่าครองชีพ เบี้ยขยัน เมื่อรวมกับเงินตอบแทนพิเศษแล้วลูกจ้างได้รับค่าจ้างในระยะเวลานั้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงาน การกำหนดวันหยุดเพิ่มขึ้นพิเศษ ให้ลูกจ้างสลับหมุนเวียนกันหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างที่ไม่ประสงค์ใช้วันลาพักผ่อนประจำปีก็อาจเลือกวิธีลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งโจทก์ให้ลูกจ้างประเภทนี้ยังคงมีสิทธิในวันหยุดพักผ่อนประจำปีอยู่เช่นเดิม และนำวันหยุดนี้สะสมไปใช้ในปีถัดไปได้ โจทก์ได้รับความยินยอมและความร่วมมือจากลูกจ้างในการใช้มาตรการด้านแรงงาน วันที่ 17 มิถุนายน 2546 บริษัทแม่ล้มละลาย ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทแม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โจทก์ประกาศขอความยินยอมและความร่วมมือจากลูกจ้างในการหยุดกิจการบางส่วนโดยจ่ายค่าจ้างร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามปกติ ไม่ลดสวัสดิการ เงินค่าตอบแทนพิเศษ (ค่ากะ) ค่าครองชีพ และเบี้ยขยัน เพื่อมิให้โจทก์ต้องปิดกิจการหรือล้มละลาย วันที่ 29 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2546 นางสาวสุภาดา กับพวกรวม 118 คน ยื่นคำร้องต่อจำเลยให้โจทก์จ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายระหว่างปี 2543 ถึงวันยื่นคำร้อง จำเลยสอบสวนพยานหลักฐานส่วนของโจทก์อย่างเร่งรีบ ไม่เปิดโอกาสให้โจทก์นำพยานหลักฐานเข้าชี้แจงอย่างละเอียดครบถ้วน แล้วมีคำสั่งที่ 28/2546 ลงวันที่ 22 กันยายน 2546 ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างในวันที่โจทก์สั่งให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวที่ยังขาดอยู่ร้อยละ 50 ให้ผู้ร้องเป็นเงิน 744,238 บาท จ่ายค่าจ้างในวันที่โจทก์ให้ลูกจ้างหยุดงานโดยลูกจ้างขอลางานโดยไม่ขอรับค่าจ้าง 72 คนเป็นเงิน 173,683 บาท รวมเป็นเงิน 917,921 บาท คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 28/2546 ลงวันที่ 22 กันยายน 2546 ของจำเลย
จำเลยให้การว่า ในส่วนของปัญหาการขาดทุน จำเลยตรวจสอบแล้วพบว่ามีความขัดแย้งกับงบกำไรขาดทุนตามแบบ ส.บช.3 ที่โจทก์ยื่นต่อสำนักงานทะเบียนการค้าหรือสำนักงานพัฒนธุรกิจการค้าจังหวัดในปัจจุบัน ซึ่งแสดงว่าโจทก์มีกำไรมาตลอดตั้งแต่ปี 2541 ถึงปี 2544 ในปี 2545 ขาดทุนสุทธิ 2,785,864,235 บาท แต่ยังมียอดกำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรรคงเหลือ ณ วันที่ 30 กันยายน 2545 จำนวน 466,998,093 บาท มิใช่โจทก์ขาดทุนมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทตามที่โจทก์มีหนังสือแจ้งต่อจำเลย เมื่อประสบปัญหาแล้วโจทก์ยังรับลูกจ้างใหม่เพิ่มเติมในปี 2543 จำนวน 1,735 คน ในปี 2544 จำนวน 1,133 คน และในปี 2545 จำนวน 29 คน แสดงว่าโจทก์ไม่มีเจตนาควบคุมดูแลและป้องกันสภาพคนล้นงาน โดยรับลูกจ้างเพิ่มจำนวนมากทั้งที่อยู่ในภาวะคำสั่งซื้อลดลงมากตั้งแต่ปี 2541 เหตุที่ทำให้เกิดการหยุดกิจการชั่วคราวเกิดจากการบริหารจัดการของโจทก์โดยตรงและโจทก์สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ จึงมิใช่เหตุสุดวิสัย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2545 โจทก์ยังคงมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่กำหนดจำนวนลูกจ้างให้เหมาะสมต่อการผลิตเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย มิได้มีการหยุดกิจการชั่วคราวทั้งหมดหรือบางส่วนการที่โจทก์ให้ลูกจ้างสลับกันหยุดงานและจ่ายค่าจ้างครึ่งหนึ่งนับแต่เดือนพฤษภาคม 2545 จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวทั้งหมดหรือบางส่วนตามมาตรา 75 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังขาดอีกร้อยละ 50 ให้ลูกจ้างตามมาตรา 70 คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า ปี 2541 โจทก์มีปัญหาด้านเทคโนโลยีไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทำให้ต้องมีการลดเพิ่มจำนวนลูกจ้าง ดังนี้
ปี 2541 เลิกจ้างลูกจ้าง 161 คน
ปี 2542 เลิกจ้างลูกจ้าง 1,300 คน
ปี 2543 ลูกจ้างลาออก 573 คน โจทก์รับลูกจ้างเพิ่ม 1,735 คน
ปี 2544 ลูกจ้างลาออก 962 คน โจทก์รับลูกจ้างเพิ่ม 1,133 คน
ปี 2545 ลูกจ้างลาออก 666 คน กับโจทก์เลิกจ้างอีก 1,435 คน และรับเพิ่ม 29 คน
เหตุที่รับลูกจ้างเพิ่มในปี 2543 ถึงปี 2544 เนื่องจากลูกค้ามีคำสั่งซื้อเพิ่มจากปี 2542 และโจทก์ให้ลูกจ้างสลับกันหยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างให้กรณีลูกจ้างเลือกใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี หรือยืมวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีถัดไปมาใช้ก่อนหรือเลือกหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างไม่มีลูกจ้างปฏิเสธไม่ใช้สิทธิดังกล่าว ลูกจ้าง 72 คน ตามบัญชีท้ายคำสั่งจำเลยเป็นลูกจ้างที่เลือกใช้สิทธิหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้างระหว่างปี 2544 ถึงปี 2545 โจทก์ให้ลูกจ้างสลับกันหยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างครึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2545 ถึงเดือนสิงหาคม 2546 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อลดลง กล่าวคือ
ปี 2544 มีคำสั่งซื้อเฉลี่ยไตรมาสละ 25 ล้านหน่วย
ปี 2545 ไตรมาสที่ 1 มีคำสั่งซื้อ 24 ล้านหน่วย
ไตรมาสที่ 2 ที่ 3 มีคำสั่งซื้อ 8 ล้านหน่วย
ไตรมาสที่ 4 มีคำสั่งซื้อ 6.6 ล้านหน่วย
ปี 2546 ไตรมาสที่ 1 มีคำสั่งซื้อ 11 ล้านหน่วย
ไตรมาสทื่ 2 มีคำสั่งซื้อ 9 ล้านหน่วย
ไตรมาสที่ 3 มีคำสั่งซื้อ 6.5 ล้านหน่วย
คำสั่งซื้อลดลงเนื่องจากโจทก์ต้องแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์กับคู่แข่งซึ่งต้องใช้ทุนในการพัฒนา แต่สู้คู่แข่งที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ และขาดเงินทุนหมุนเวียน ในที่สุดบริษัทแม่ล้มละลายเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2546 สาขาในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเกาหลีปิดกิจการ แต่โจทก์ใช้วัตถุดิบที่ยังเหลืออยู่ผลิตสินค้าจำหน่ายเพื่อให้กิจการประคองตัวอยู่ได้ หลังจากนั้นอีก 2 เดือน จึงมีผู้ซื้อกิจการ ทำให้โจทก์ไม่ต้องเลิกจ้างพนักงานที่มีอยู่มากกว่า 6,000 คน ลูกจ้าง 118 คน ยื่นคำร้องต่อจำเลยจำเลยสอบสวนแล้วจึงมีคำสั่งที่ 28/2546 สั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่ลูกจ้างทั้ง 118 คน ตามสำนวนเอกสารหมาย ล.1 ปี 2546 โจทก์ขาดทุนตามงบการเงิน 2,000,000,000 บาทเศษ เป็นหนี้ผู้ส่งวัตถุดิบและบริการประมาณ 800,000,000 บาท
ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางฟ้งข้อเท็จจริงว่าโจทก์และลูกจ้างตกลงกันหยุดงานโดยได้รับค่าจ้างกรณีใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีหรือยืมวันหยุดพักผ่อนประจำปีถัดไปมาใช้หรือหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง แล้ววินิจฉัยว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลใช้บังคับได้ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในค่าจ้างดังกล่าวต่อลูกจ้าง การที่ลูกค้ามีคำสั่งซื้อลดลงมาก หากโจทก์ยังคงผลิตสินค้าจำนวนเท่าเดิมต่อไปย่อมเห็นได้ว่าจะกระทบกระเทือนต่อธุรกิจโดยรวมของโจทก์ซึ่งจะส่งผลให้ขาดทุนมากยิ่งขึ้น ในที่สุดอาจต้องเลิกกิจการหรือล้มละลายและเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด ที่โจทก์สลับให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวโดยจ่ายค่าจ้างให้ร้อยละ 50 จึงเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา และถือได้ว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุจำเป็นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ 28/2546 ของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ให้ลูกจ้างสลับกันหยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างครึ่งหนึ่งเป็นกรณีที่โจทก์มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์คุ้มครองนายจ้างที่ต้องประสบวิกฤตการณ์ในการดำเนินกิจการซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ส่งผลกระทบกระเทือนแก่กิจการของนายจ้างอย่างรุนแรงจนถึงขั้นมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว อันเป็นการให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะไม่ให้ลูกจ้างทั้งหมดหรือบางส่วนทำงานเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อให้นายจ้างมีโอกาสแก้ไขวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดไปหรือบรรเทาลง เมื่อได้ความมาจากข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างมีปัญหาด้านเทคโนโลยี ไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด โจทก์ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าลดลงจากปี 2544 ที่มีคำสั่งซื้อเฉลี่ยไตรมาสละ 25 ล้านหน่วย โดยในปี 2545 ไตรมาสที่ 2 ที่ 3 มีคำสั่งซื้อ 8 ล้านหน่วย ไตรมาสที่ 4 มีคำสั่งซื้อ 6.6 ล้านหน่วย ปี 2546 ไตรมาสที่ 1 มีคำสั่งซื้อ 11 ล้านหน่วย ไตรมาสที่ 2 มีคำสั่งซื้อ 9 ล้านหน่วย ไตรมาสที่ 3 มีคำสั่งซื้อ 6.5 ล้านหน่วย และปรากฏตามหนังสือของโจทก์ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2546 ถึงสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเอกสารหมาย ล.1 ว่าโจทก์กำหนดปฏิทินการปฏิบัติงานแบ่งเป็นปีละ 4 ไตรมาส เริ่มต้นไตรมาสที่ 1 ในเดือนตุลาคม และสิ้นสุดไตรมาสที่ 4 ในเดือนกันยายน ไตรมาสที่ 1 ของปี 2545 เริ่มต้นเดือนตุลาคม 2544 จึงเห็นได้ว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 ซึ่งอยู่ในไตรมาสที่ 2 ถึงเดือนมิถุนายน 2546 ซึ่งอยู่ในไตรมาสที่ 3 โจทก์ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าลดลงมากเมื่อเทียบกับในปี 2544 ดังนั้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 ถึงเดือนมิถุนายน 2546 หากโจทก์ยังคงผลิตสินค้าในปริมาณเดิมเท่ากับที่ลูกค้ามีคำสั่งซื้อในปี 2544 คือไตรมาสละ 25 ล้านหน่วย ก็เห็นได้ชัดว่าโจทก์ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้หมดอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าของโจทก์มีปัญหาด้านเทคโนโลยีที่ไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดได้ หากยังคงผลิตออกมาก็ไม่มีตลาดรองรับ ย่อมเสี่ยงต่อการขาดทุนอันส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะการเงินและความคงอยู่ของกิจการโจทก์ การที่โจทก์ลดการผลิตลงจึงเป็นความจำเป็นโดยเหตุที่มิใช่เหตุสุดวิสัย และการที่โจทก์ลดการผลิตลงด้วยการให้ลูกจ้างสลับกันหยุดงานเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ให้ลูกจ้างบางส่วนทำงาน มีผลเท่ากับโจทก์หยุดการผลิตบางส่วนซึ่งทำให้ผลผลิตลดลงอันเป็นการหยุดกิจการในส่วนที่ต้องลดการผลิตนั้น จึงเป็นการหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราว การที่โจทก์ให้ลูกจ้างสลับกันหยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ครึ่งหนึ่ง (เท่ากับร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงาน) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2545 ถึงเดือนสิงหาคม 2546 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่โจทก์ได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าลดลงมากจึงเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง โดยชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้แจ้งการหยุดกิจการชั่วคราวให้พนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้า ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคสอง นั้นในคำให้การจำเลยต่อสู้เพียงว่าคำสั่งที่ 28/2546 ของจำเลยชอบแล้ว และในคำสั่งที่จำเลยยกขึ้นอ้างในคำให้การไม่ปรากฏว่าได้กล่าวถึงเรื่องโจทก์ไม่แจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าก่อนวันเริ่มหยุดกิจการชั่วคราวอุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share