คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9126/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 15)ฯ มาตรา 6 ยกเลิกความในมาตรา 30 แห่ง ป.อ. และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยกฎหมายที่แก้ไขใหม่ให้กักขังแทนค่าปรับในอัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวันกรณีจึงไม่อาจบังคับคดีให้กักขังจำเลยที่ 1 แทนค่าปรับจำนวน 75 บาท ในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามกฎหมายเดิมต่อไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในความผิดดังกล่าวว่าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 30 ด้วยนั้นไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 288, 371 คืนเสื้อยืดและกางเกงขายาวของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 371 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นจำคุก 20 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรปรับ 100 บาท รวมจำคุก 20 ปี และปรับ 100 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 15 ปี และปรับ 75 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คืนเสื้อและกางเกงขายาวแก่เจ้าของ ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 13 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยที่ 1 เบิกความว่า คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 1 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ชวนจำเลยที่ 2 ไปที่ร้านเซเว่นปากซอยวุฒากาศ 36 พบเด็กชายธานินทร์บอกว่าถูกพวกผู้ตายที่นั่งอยู่ข้างร้านดังกล่าวตบศรีษะ จำเลยที่ 1 สอบถามผู้ตายซึ่งกำลังนั่งดื่มเบียร์อยู่ว่าใครแกล้งเด็ก พวกของผู้ตายคนหนึ่งตอบว่าเป็นการหยอกล้อเล่น แต่ผู้ตายกลับพูดท้าทาย จำเลยที่ 1 เห็นว่า ผู้ตายเมาสุราเกรงว่าจะมีเรื่องวิวาทกันจึงบอกให้จำเลยที่ 2 กลับบ้านไปก่อน ส่วนจำเลยที่ 1 ก็เดินเข้าไปในซอยวุฒากาศ 36 เพื่อไปหาเพื่อนแต่ผู้ตายกับพวกอีก 1 คน วิ่งตามเข้าไป จากนั้นผู้ตายต่อยหน้าจำเลยที่ 1 พร้อมกับชักมีดออกมาจากขอบกางเกง เงื้อมีดจะแทงจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต่อสู้ยื้อแย่งด้วยการจับมือผู้ตายดันมีดกลับเข้าหาผู้ตายไป 1 ครั้ง โดยไม่ทราบว่าคมมีดถูกผู้ตายหรือไม่ จากนั้นผู้ตายทำท่าจะใช้มีดแทงจำเลยที่ 1 อีก จำเลยที่ 1 จึงจับมือผู้ตายดันมีดไปทางผู้ตายอีก 4 ถึง 5 ครั้ง ผู้ตายจึงวิ่งหลบหนีเข้าไปในซอย ส่วนจำเลยที่ 1 ก็เดินกลับออกไปทางปากซอย เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีสาเหตุทะเลาะโต้เถียงกับผู้ตายเรื่องที่พวกผู้ตายไปหยอกล้อเด็กชายธานินทร์ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของผู้ตาย ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ผู้ตายชักมีดออกมาแทงจำเลยที่ 1 ทั้งเมื่อพิเคราะห์ลักษณะบาดแผลผู้ตายภาพถ่ายหมาย จ.10 ประกอบกับรายงานการตรวจศพของสถาบันนิติเวชวิทยา เอกสารหมาย จ.4 ปรากฏว่า ผู้ตายถูกแทงด้วยของมีคมรวม 3 แห่ง ทำให้ถึงแก่ความตาย คือแผลถูกแทงที่เหนือหัวไหปลาร้าทะลุโดนกล้ามเนื้อลำคอ แผลลึก 12 เซนติเมตร แผลถูกแทงที่หน้าอกซ้ายทะลุช่องซี่โครงซ้ายช่องที่ 6 โดนปอดซ้ายกลีบบนและล่าง แผลลึก 12 เซนติเมตร เลือดเต็มช่องอกซ้ายและแผลถูกแทงที่หน้าอกขวาทะลุกระดูกซี่โครงขวาอันที่ 6 โดนปอดขวากลีบล่างกะบังลมและตับ แผลลึก 12 เซนติเมตร เลือดเต็มช่องอกขวา แสดงให้เห็นว่าเป็นการแทงโดยแรงและยังแทงซ้ำอีก นอกจากนี้ยังมีรอยกรีดกลางอกผู้ตายจากซ้ายไปขวายาว 18 เซนติเมตร ซึ่งน่าเชื่อว่าผู้ตายเอี้ยวตัวหลบ บาดแผลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้พกมีดปลายแหลมติดตัวไปในคืนเกิดเหตุแล้วใช้มีดนั้นแทงผู้ตายเพียงฝ่ายเดียวโดยผู้ตายไม่ได้ต่อสู้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการป้องกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 15) พ.ศ.2545 มาตรา 6 ยกเลิกความในมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยกฎหมายที่แก้ไขใหม่ให้กักขังแทนค่าปรับในอัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน กรณีจึงไม่อาจบังคับคดีให้กักขังจำเลยที่ 1 แทนค่าปรับจำนวน 75 บาท ในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามกฎหมายเดิมต่อไปได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในความผิดดังกล่าวว่า ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 ด้วยนั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share