คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2213/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์อ้างส่งหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ต่อศาลเพียง 2 ฉบับโดยฉบับแรกรับรองตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 ฉบับที่สองรับรองตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 แม้ว่าโจทก์จะมิได้แสดงหลักฐานการต่ออายุการจดทะเบียนดังกล่าวในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม2541 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2542 แต่จากหนังสือรับรองฉบับที่สองมีข้อความว่า โจทก์ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2533 และได้รับอนุญาตให้ต่ออายุไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 นั้น ย่อมหมายความว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2533 โจทก์ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมาอย่างต่อเนื่องจนถึงฉบับหลังสุด ซึ่งจำเลยเองก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์มิได้ต่ออายุการจดทะเบียนบริษัทโจทก์แต่อย่างใด จึงรับฟังได้ว่าช่วงเวลาที่โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องหรือในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ยังมีสภาพเป็นนิติบุคคล คำฟ้องของโจทก์จึงมีผลตามกฎหมาย
การทำหนังสือมอบอำนาจไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำ ณ สถานที่อันเป็นภูมิลำเนาของผู้มอบอำนาจ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47วรรคสาม กำหนดเพียงว่า หากหนังสือมอบอำนาจทำในเมืองต่างประเทศที่มีกงสุลสยามต้องให้กงสุลนั้นเป็นพยาน เมื่อหนังสือมอบอำนาจคดีนี้ได้ทำขึ้นในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีสถานกงสุลของประเทศไทยตั้งอยู่ โดยหนังสือมอบอำนาจมีลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจและประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์มีเจ้าพนักงานรับรองหนังสือสัญญาของฮ่องกงลงลายมือชื่อเป็นพยาน และมีกงสุลไทยประจำฮ่องกงลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อและตราประทับของเจ้าพนักงานรับรองหนังสือสัญญาดังกล่าว ทั้งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าบุคคลผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ หรือขณะลงลายมือชื่อมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์แล้ว กรณีจึงรับฟังได้ว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจที่แท้จริงและมีผลบังคับตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าสิทธิและส่วนต่างของค่าธรรมเนียมจากยอดขายและค่าสิทธิขั้นต่ำตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วงในเครื่องหมายการค้าPUMA คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องการคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าใช้สิทธิแก่โจทก์ตามควรในฐานลาภมิควรได้นั้น จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 คำพิพากษาในส่วนนี้จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายหมู่เกาะคุก (Cook Islands) ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองของประเทศนิวซีแลนด์ โจทก์ได้รับอนุญาตจากพูมา เอจี รูดอล์ฟ แดซเลอร์ สปอร์ต (Puma AGRudolf Dassler Sport) ให้ใช้ชื่อ พูมา (PUMA) สำหรับสินค้าประเภทเครื่องกีฬาแต่ผู้เดียวและมีอำนาจให้ผู้อื่นใช้ชื่อดังกล่าวในฮ่องกง เกาลูน นิวเทอริทอรี่ส์ มาเก๊าและประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2535 โจทก์ได้ทำสัญญามอบให้จำเลยเป็นผู้ใช้สิทธิในการผลิตสินค้าและอุปกรณ์กีฬาโดยใช้ชื่อพูมาแต่ผู้เดียวในประเทศไทยในการทำสัญญาดังกล่าว จำเลยตกลงชำระค่าสิทธิซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือค่าสิทธิขั้นต่ำ(Minimun Royalties) และค่าธรรมเนียมจากยอดขาย (Current Royalties) ในกรณีค่าสิทธิจากค่าธรรมเนียมยอดขายในปีใดต่ำกว่าค่าสิทธิขั้นต่ำ จำเลยยอมชำระส่วนต่างให้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันสุดท้ายของปี กำหนดชำระค่าสิทธิขั้นต่ำและค่าธรรมเนียมจากยอดขายเป็นเงินสกุลดอลลาร์ฮ่องกงทุกไตรมาสของปีภายใน 30 วันนับแต่วันที่ 31 มีนาคม วันที่ 30 มิถุนายน วันที่ 30 กันยายน และวันที่ 31 ธันวาคมจำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญามาโดยตลอด ต่อมาจำเลยผิดนัด ไม่ชำระค่าสิทธิในปี 2539ปี 2540 และไตรมาสที่ 1 และที่ 2 ในปี 2541 กับส่วนต่างระหว่างค่าธรรมเนียมจากยอดขายและค่าสิทธิขั้นต่ำในปี 2538 ปี 2539 และปี 2540 รวมเป็นเงิน 15,484,686.12ดอลลาร์ฮ่องกง คิดเป็นเงินไทย 65,751,377 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระเมื่อคำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ในแต่ละงวดจนถึงวันฟ้องแล้ว เป็นดอกเบี้ยจำนวน 3,550,935.32 ดอลลาร์ฮ่องกง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 18,035,621.44 ดอลลาร์ฮ่องกง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ8.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 15,484,686.12 ดอลลาร์ฮ่องกง นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า หมู่เกาะคุกไม่มีสถานะเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศการจดทะเบียนนิติบุคคลของบริษัทโจทก์ในหมู่เกาะคุกจึงไม่ทำให้โจทก์มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2541 ไม่ชอบ เนื่องจากหนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลของโจทก์หมดอายุเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 กรรมการที่ลงนามในหนังสือมอบอำนาจไม่มีอำนาจที่จะกระทำการแทนโจทก์ เอกสารต่างประเทศที่โจทก์อ้างมิได้ผ่านการรับรองโดยโนตารีปับลิกและเจ้าหน้าที่กงสุลไทย พูมา เอจี รูดอล์ฟ แดซเลอร์ สปอร์ต (PumaAG Rudolf Dassler Sport) มิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำฟ้องจึงมิใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าโดยชอบ โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจากพูมา เอจี รูดอล์ฟ แดซเลอร์ สปอร์ต จึงไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจอนุญาตช่วงให้บุคคลอื่น สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงใช้บังคับไม่ได้ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าระหว่างพูมา เอจี รูดอล์ฟ แดซเลอร์ สปอร์ต กับโจทก์มิได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 กล่าวคือ มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่อาจใช้บังคับได้ โจทก์ไม่มีสิทธิให้อนุญาตช่วง สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่อาจใช้บังคับได้เช่นกัน การคิดค่าสิทธิในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการเอาเปรียบจำเลยไม่เป็นธรรมและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ การคิดดอกเบี้ยไม่ชอบ โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 25,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันมีคำพิพากษาไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายหมู่เกาะคุกตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 นายปกรณ์ มาตระกูล ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 พูมา เอจี รูดอล์ฟ แดซเลอร์ สปอร์ต ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า PUMA อ่านว่า พูมาสำหรับสินค้าประเภทเครื่องกีฬา และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า PUMAในประเทศไทยโดยใช้กับสินค้าประเภทเครื่องกีฬ่าเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2526 ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2533 พูมา เอจี รูดอล์ฟ แดซเลอร์ สปอร์ต ได้ทำสัญญาอนุญาตให้โจทก์ได้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า PUMA สำหรับสินค้าประเภทเครื่องกีฬาแต่ผู้เดียวในประเทศไทย มาเก๊า ฮ่องกง เกาลูน และนิวเทอริทอรี่ส์ และมีอำนาจอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วงได้ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเอกสารหมาย จ.5 ต่อมามีพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ออกมาใช้บังคับ โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์2535 และบัญญัติไว้ในมาตรา 68 ว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วจะทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของตนได้แต่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน วันที่ 5 พฤษภาคม 2535 โจทก์ได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วงในเครื่องหมายการค้าคำว่า PUMA แก่จำเลย โดยจำเลยจะต้องจ่ายค่าตอบแทนการได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิแก่โจทก์ทุกปี ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 31 มีนาคม วันที่ 30 มิถุนายน วันที่ 30 กันยายน และวันที่ 31 ธันวาคม ของแต่ละปี ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วงเอกสารหมาย จ.6 แต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน จำเลยชำระค่าตอบแทนการใช้สิทธิแก่โจทก์เรื่อยมาจนถึงปี 2539 จึงผิดนัดไม่ชำระค่าตอบแทนการใช้สิทธิแก่โจทก์จนถึงเดือนมิถุนายน 2541 รวมระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อแรกว่า ขณะที่โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ และในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์มีสภาพเป็นนิติบุคคลหรือไม่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์อ้างส่งหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่อศาลตามเอกสารหมาย จ.1 เพียง 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งรับรองการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ตั้งแต่วันที่2 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 และอีกฉบับหนึ่งรับรองการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ตั้งแต่ระหว่างวันที่ 3 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 โจทก์มอบอำนาจให้นายปกรณ์ มาตระกูล ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2541 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2542 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โจทก์ไม่มีหลักฐานรับรองการเป็นนิติบุคคลของโจทก์มาแสดง จึงถือว่าในช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้วนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้แสดงหลักฐานการต่ออายุการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2542 แต่จากหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ฉบับที่ 2 ซึ่งอนุญาตให้ต่ออายุการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2542 จนถึงวันที่31 กรกฎาคม 2543 ได้มีข้อความกล่าวเท้าความว่า โจทก์ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2533 และบัดนี้ได้รับการอนุญาตให้ต่ออายุการจัดตั้งบริษัทจำกัดไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 ย่อมมีความหมายว่า ตั้งแต่วันที่ 1สิงหาคม 2533 โจทก์ได้มีการจดทะเบียนต่ออายุการจัดตั้งบริษัทมาอย่างต่อเนื่องจนถึงฉบับหลังสุด ซึ่งมีผลใช้ได้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 จำเลยก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์มิได้ดำเนินการต่ออายุการจดทะเบียนบริษัทโจทก์แต่อย่างใดข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ในช่วงเวลาที่โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ก็ดีหรือในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ก็ดี โจทก์ยังมีสภาพเป็นนิติบุคคล คำฟ้องของโจทก์จึงมีผลตามกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 มีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าบุคคลผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจแทนโจทก์นั้นเป็นกรรมการบริษัทโจทก์และมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ทั้งการทำหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับก็มิได้ทำตามระเบียบและกฎหมายหมู่เกาะคุกซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองของประเทศนิวซีแลนด์ที่โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลไว้แต่ทำที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า การทำหนังสือมอบอำนาจไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำณ สถานที่อันเป็นภูมิลำเนาของผู้มอบอำนาจ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 47 วรรคสาม บัญญัติแต่เพียงว่า ถ้าหนังสือมอบอำนาจได้ทำในเมืองต่างประเทศที่มีกงสุลสยามต้องให้กงสุลนั้นเป็นพยานหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 และจ.3 ได้ทำขึ้นในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีสถานกงสุลของประเทศไทยตั้งอยู่ หนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับลงลายมือชื่อบุคคลซึ่งระบุว่าเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ มีเจ้าพนักงานรับรองหนังสือสัญญาของฮ่องกงลงลายมือชื่อเป็นพยานและมีกงสุลไทยประจำฮ่องกงลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อและตราประทับของเจ้าพนักงานรับรองหนังสือสัญญาดังกล่าว และโจทก์มีนายสุเมธ บุณยรัตพันธุ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2และ จ.3 จริง โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าบุคคลผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์หรือขณะที่ลงลายมือชื่อมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์แล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ย่อมรับฟังได้ว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เป็นหนังสือมอบอำนาจที่แท้จริงและมีผลบังคับตามกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า เมื่อสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วงในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า PUMA ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2535ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.6 ตกเป็นโมฆะ เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534มาตรา 68 วรรคสอง ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระค่าตอบแทนการใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า PUMA แก่โจทก์ โดยนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าสิทธิและส่วนต่างของค่าธรรมเนียมจากยอดขายและค่าสิทธิขั้นต่ำตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วงในเครื่องหมายการค้าคำว่า PUMA คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องการคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าใช้สิทธิแก่โจทก์ตามควรในฐานลาภมิควรได้นั้น จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนนี้จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น และคดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าสมควรกำหนดค่าตอบแทนการใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าเป็นจำนวนเท่าใดอีกต่อไป”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share