แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งและจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศให้ร่วมรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเล อันเป็นการขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในมูลความแห่งคดีอันเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การ มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ แต่จำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยจำเลยที่ 2 ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 1 ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ด้วย เมื่อปรากฏว่าคดีขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปลายเดือนกันยายน 2541 โจทก์รับจ้างขนส่งสินค้าจากบริษัทไทยดูราเบิล เท็คซไทล์ จำกัด (มหาชน) ในประเทศไทย ไปส่งมอบให้แก่บริษัทออลเท็คซ เทรดดิ้ง จำกัด ผู้รับตราส่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ขนส่งแทน โดยโจทก์ติดต่อและตกลงกับจำเลยที่ 1 ผ่านทางจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทยเพื่อมอบหมายให้ขนส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไปยังท่าเรือนิวยอร์คประเทศสหรัฐอเมริกา และจำเลยที่ 2 ออกใบตราส่งของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐาน จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนที่เข้าทำสัญญาแทนตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2541 จำเลยที่ 1 และที่ 2 บรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ จำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าด้วยเรือ “ซิม ไซ่ง่อน” ถึงเขตบริการพิเศษฮ่องกงแล้วขนถ่ายสินค้าลงเรือ “ซิม อิสราเอล” ขนส่งต่อไปยังท่าเรือนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อผู้รับตราส่งเปิดตู้คอนเทนเนอร์แล้วพบว่าสินค้าเปียกน้ำเสียหายในระหว่างการขนส่ง ต่อมาผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งจำนวน 14,000 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วจึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่ผู้รับประกันภัยไปแล้วจึงมีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 16,873.21 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน 14,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าพิพาท ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 14,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,412.46 ดอลลาร์สหรัฐ หากชำระเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริงให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแจ้งให้ทราบอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องในมูลสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งโจทก์ผู้ส่งฟ้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งและจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ให้ร่วมกันรับผิดในความเสียหายของสินค้าผ้าดิบที่เกิดขึ้นระหว่างการดูแลของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าผ้าดิบโดยบรรจุใส่ตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือกรุงเทพไปยังท่าเรือนิวยอร์คประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าถึงท่าเรือนิวยอร์คประเทศสหรัฐอเมริกา และส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ที่ลานวางตู้คอนเทนเนอร์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 และโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2544 ซึ่งเกินกว่า 1 ปี นับแต่เมื่อมีการส่งมอบสินค้าตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 40 (3) ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามบทมาตราดังกล่าว และเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในมูลความแห่งคดีอันเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การ มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ แต่จำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยจำเลยที่ 2 ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 1 ด้วยดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 และมาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ด้วย เมื่อปรากฏว่าคดีขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย