แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บริษัทบริหารสินทรัพย์โจทก์มอบหมายให้ธนาคาร ก. ผู้รับชำระหนึ้เดิมเป็นผู้เรียกเก็บเงินและรับชำระหนี้ จึงเป็นการที่โจทก์ได้มอบหมายให้ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนในการเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้น การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ว่าธนาคาร ก. หรือโจทก์จะไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองทราบตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 การโอนสิทธิเรียกร้องนี้ก็ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิเข้าสวมสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งในอันที่จะบังคับชำระหนี้แก่จำเลยต่อไปตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ มาตรา 7
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2536 โดยให้ชำระเงินจำนวน 1,951,461.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี และชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิของโจทก์จะบังคับคดีกับจำเลยได้จะต้องล่วงเลยระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อน ดังนั้น สิทธิของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2537 เมื่อโจทก์คดีนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 สิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมจึงไม่สิ้นระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายได้
การที่โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามหมายบังคับคดีและได้ขายทอดตลาดทรัพย์แล้ว แต่ยังมีหนี้ที่ค้างชำระโจทก์อยู่อีก กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (5) โดยโจทก์มิต้องอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (9) ดังที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใดอีก ทั้งในการขอให้ล้มละลายโจทก์จะอ้างข้อสันนิษฐานใดอนุมาตราใดมาตราหนึ่งของมาตรา 8 ก็ได้ และในการฟ้องให้ล้มละลายก็ไม่จำเป็นต้องมีการทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มาจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดภูเก็ต จำเลยทั้งสองคงค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 3,663,160.24 บาท จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์จะต้องโอนหนี้รายนี้เข้าบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้จากโจทก์ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง มีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน ทั้งการทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 ก็เป็นการทวงถามจากผู้รับมอบอำนาจของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ไม่ใช่เจ้าหนี้คดีนี้ การทวงถามจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) นอกจากนี้จำเลยทั้งสองมิได้เป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว และคดีขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในการโอนสิทธิเรียกร้องในคดีนี้เป็นการโอนโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ซึ่งมาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการโอนสินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ หากบริษัทบริหารสินทรัพย์มอบหมายให้ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้น การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นอันชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” เมื่อได้ความว่า ในการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กับโจทก์ในคดีนี้ โจทก์ได้มอบหมายให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เรียกเก็บและรับชำระหนี้ ดังนี้ เป็นการที่บริษัทบริหารสินทรัพย์มอบหมายให้ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนในการเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้น การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสอง ดังนั้น แม้ว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือโจทก์จะไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองทราบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ก็ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิเข้าสวมสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งในอันที่จะบังคับชำระหนี้แก่จำเลยต่อไปตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7
ประการที่สอง สิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาสิ้นระยะเวลาในการบังคับคดีแล้วหรือไม่ เห็นว่า ในคดีดังกล่าวศาลจังหวัดภูเก็ตได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2536 โดยพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 1,951,461.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ พร้อมกับค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่ได้สั่งคืนแก่โจทก์ โดยให้จำเลยทั้งสองชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าจำเลยทั้งสองผิดนัดยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนกว่าจะครบถ้วนเช่นนี้ สิทธิของโจทก์ในคดีดังกล่าวในอันที่จะบังคับคดีได้จะต้องล่วงเลยระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อน เพราะตามคำพิพากษาตามยอมได้ให้สิทธิจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา 6 เดือน สิทธิของโจทก์ที่อาจบังคับคดีได้จึงเริ่มนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2537 เมื่อโจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 สิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมจึงไม่สิ้นระยะเวลาบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายได้
ประการที่สาม จำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้จากเจ้าหนี้ หนังสือทวงถามตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 กรณีไม่เข้าข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) เห็นว่า ในการฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ได้อ้างเหตุข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) กล่าวคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามหมายบังคับคดีและขายทอดตลาดแล้ว กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัว โจทก์มิได้อ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (9) ในส่วนจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด อีกทั้งในการฟ้องขอให้ล้มละลาย โจทก์จะอ้างข้อสันนิษฐานในอนุมาตราใดมาตราหนึ่งตามมาตรา 8 ก็ได้ และในการฟ้องให้ล้มละลายก็ไม่จำเป็นต้องมีการทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ก่อนแต่อย่างใด ในส่วนที่จำเลยที่ 1 เพียงอ้างในคำให้การว่าเป็นเจ้าของที่ดินและเจ้าของห้องชุด แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้นำพยานมาสืบให้เห็นดังข้อกล่าวอ้าง จึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน