แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนฯ ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อผลกำไรส่วนบุคคล และใช้เฉพาะในการศึกษาเท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน มหาวิทยาลัยโจทก์มีกำไรจากการดำเนินกิจการเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในปี 2545 ที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการโจทก์มีรายได้สูงกว่ารายจ่าย 700 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 300 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าเป็นกิจการเพื่อแสวงหาผลกำไรส่วนบุคคลมากกว่าจะเป็นกิจการสาธารณะ ทั้งโจทก์ยังนำเอาอาคารเรียนไปให้บุคคลภายนอกเช่าทำเป็นศูนย์การค้า มีร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านแว่นตา ร้านถ่ายรูป ธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์ ซึ่งเห็นได้ว่าอาคารของโจทก์มิได้ใช้เฉพาะเพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียว จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินค่าภาษีจำนวน 9,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 เป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการก่อตั้งและดำเนินการบริหารงานโดยมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย เดิมได้รับอนุญาตให้จัดตั้งวิทยาลัยเอกชนจากกระทรวงศึกษาธิการใช้ชื่อว่า วิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจในปี 2515 ต่อมาปี 2533 ได้รับอนุญาตจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เปลี่ยนประเภทเป็นมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีนายประทีป ม. โกมลมาศ ซึ่งเป็นนักบวชของมูลนิธิเป็นผู้บริหาร ปัจจุบันมีนายบัญชา แสงหิรัญ เป็นอธิการบดี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยอนุญาตให้โจทก์จัดตั้งวิทยาเขตบางนา ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 26 ถนนบางนา-ตราด ตำบลบางเสาธง อำเภอบางพลี (กิ่งอำเภอบางเสาธง) จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อก่อสร้างวิทยาเขตบางนาแล้วเสร็จ ทางราชการได้ออกเลขสำมะโนครัวเลขที่ 88/1-3 หมู่ที่ 8 ตำบลบางเสาธง กิ่งอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีจำเลยที่ 2 เป็นสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และมีจำเลยที่ 3 เป็นคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ตามมาตรา 43, 44 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2538 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประกอบด้วยคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ คือนายพยอม ผ่องชมภู กรรมการบริหาร เป็นประธานกรรมการ นางสาวสุชาดา หงษ์จร ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางเสาธง เป็นกรรมการ นายจักรพงษ์ ปทุมไกยะ ปลัดอำเภอบางเสาธง เป็นกรรมการ นายภิญโญ ประกอบผล ผู้ตรวจราชการท้องถิ่น เป็นกรรมการ นายอำพล ขั้วแย้ม ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ และนางสาวนพวรรณ ลัดพลี หัวหน้าส่วนการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจพิจารณากลั่นกรอง ตรวจสอบ และเสนอข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมการบริหารเกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และพิจารณาให้ความเห็นอื่นๆ ตามที่ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลมอบหมายอันเกี่ยวด้วยการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โดยมีนายเกษม แซ่ลี้ ประธานกรรมการบริหาร นายชิน อ่ำชิต กรรมการบริหาร และนายพยอม ผ่องชมภู กรรมการบริหารเป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2545 จำเลยทั้งสามได้มีใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด. 8) ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มายังโจทก์ผู้รับประเมินภาษีโรงเรือน จำนวน 2 รายการ โดยให้นำเงินไปชำระต่อจำเลยที่ 1 ภายใน 30 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับใบแจ้งรายการ คือทรัพย์สินประเภทศูนย์การค้า โรงอาหาร ค่ารายปี 24,000,000 บาท ค่าภาษี 3,000,000 บาทและทรัพย์สินประเภทหอพัก ค่ารายปี 48,000,000 บาท ค่าภาษี 6,000,000 บาท โจทก์ไม่พอใจกับการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จำเลยทั้งสามได้ประเมินไว้ดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 โจทก์ได้ร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 25, 41 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เพราะจำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์จ่ายภาษีและประเมินภาษีไม่ถูกต้อง และเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2545 โจทก์ได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนตามใบแจ้งการประเมินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 โจทก์ได้รับหนังสือของจำเลยทั้งสามที่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าได้พิจารณาคำร้องของโจทก์แล้วไม่อยู่ในข่ายที่จะได้การยกเว้นภาษีโรงเรืองและที่ดินตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แต่อย่างใด โจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลักเกณฑ์ที่ใช้ประเมินไม่ถูกต้อง พื้นที่ประเมินไม่ถูกต้อง ทรัพย์สินจำพวกกลุ่มร้านค้า โรงอาหารและหอพักประเมินกำหนดค่ารายปีไม่ถูกต้อง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย สำหรับศูนย์การค้า โรงอาหารของโจทก์ ณ วิทยาเขตบางนา พื้นที่ภายในอาคาร 38 ชั้น เฉพาะชั้นที่ 1 บางส่วน เนื้อที่ 3,460 ตารางเมตร และพื้นที่ชั้นล่างของอาคารที่พักอาศัย 3 หลัง เนื้อที่ 5,916 ตารางเมตร นั้น ก่อนที่โจทก์จะดำเนินการโจทก์ได้ขออนุญาตจากทบวงมหาวิทยาลัยเพื่อให้ผู้ประกอบการภายนอกได้เช่าขายอาหารและเครื่องดื่มพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภค เนื่องจากสถานที่ตั้งของโครงการอยู่ห่างจากถนนบางนา-ตราด เข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร ทำให้ยากต่อการเดินทางเพื่อซื้ออาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ อีกทั้งพื้นที่บริเวณในระยะรัศมี 5 กิโลเมตร โดยรอบมหาวิทยาลัยไม่มีชุมชนและส่วนบริการดังกล่าวที่ดีไว้รองรับ ทบวงมหาวิทยาลัยโดยคณะกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนพิจารณาแล้วมีมติให้ความเห็นชอบให้โจทก์นำพื้นที่บางส่วนของชั้นที่ 1 ของอาคาร 38 ชั้น จำนวน 3,460 ตารางเมตร และพื้นที่ชั้นล่างของอาคารที่พักอาศัย 3 หลังจำนวน 5,916 ตารางเมตร ให้ผู้ประกอบการภายนอกเช่าเพื่อให้บริการด้านอุปโภคบริโภคแก่อาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษา สำหรับเรื่องการเสียภาษีเงินได้และภาษีการค้าของโจทก์ขณะใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ” นั้น อธิบดีกรมสรรพากรได้มีหนังสือรับรองว่าได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร และโจทก์ไม่ใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามบทนิยามในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อผู้เช่าจ่ายค่าเช่าพื้นที่ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด พื้นที่ทั้งหมดที่โจทก์ขออนุญาตทบวงมหาวิทยาลัยจำนวน 9,376 ตารางเมตร โจทก์จัดแบ่งพื้นที่ให้เช่าเป็นบางส่วนจำนวนเนื้อที่ 1,273.93 ตารางเมตร และส่วนที่เหลือก็เป็นพื้นที่ว่างเปล่าเป็นเนื้อที่ 8,102.07 ตารางเมตร เพื่อใช้สอยโดยมิได้รับค่าตอบแทนใดๆ กลุ่มร้านอาหาร โรงอาหารดังกล่าวไม่มีรายได้ถึง 24,000,000 บาท ถ้าคำนวณตามความเป็นจริงแล้วมีค่าเช่ารายเดือน เดือนละ 327,888.40 บาท หากจำต้องเสียภาษีก็มีค่ารายปีไม่มากดังที่จำเลยทั้งสามประเมิน จำเลยทั้งสามกำหนดรายได้หรือค่ารายปีที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงอย่างมาก ไม่ได้คิดค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรตามแนวทางการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและก็ไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0307/ว 2393 ลงวันที่ 10 กันยายน 2536 รายได้ที่พึงได้รับจากค่าเช่านำไปชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษาสถานที่ ค่าอุปกรณ์การศึกษา และอื่นๆ ก็ไม่พอเพียง โจทก์มิได้ดำเนินการเพื่อแสวงหาเป็นการค้ากำไรแต่อย่างใด สำหรับอาคารที่พักอาศัย 3 หลัง คือ อาคารหอพักชาย (King Solomon) อาคารหอพักหญิง (Queen of Sheha) นั้น โจทก์ได้อำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาชายหญิงที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัดได้เช่าพักอาศัยเฉพาะในระหว่างเปิดการเรียนการสอนตลอดจนให้เจ้าหน้าที่ อาจารย์ นักบวชของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยพักอาศัยในระหว่างเปิดการเรียนการสอน ค่าเช่าที่พึงได้รับก็เพื่อนำไปใช้จ่ายค่าก่อสร้างอาคารหอพักที่นำเงินมาก่อสร้างที่เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินต่างๆ ค่าบำรุงรักษา ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของโจทก์อันมิได้แสวงหาผลกำไร ส่วนอาคาร King David นั้น แม้จะมีจำนวนห้องใช้สอยจำนวนมาก แต่ก็ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ ก็เพียงใช้สำหรับให้อาจารย์เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารตลอดจนอาจารย์ต่างชาติพักอาศัยในโอกาสต่อไปในอนาคตหาได้รับค่าใช้สถานที่เป็นประจำแต่อย่างใดไม่ ทรัพย์สินของโจทก์ประเภทหอพักก็มิได้แสวงหาผลกำไรแต่อย่างใด ที่จำเลยทั้งสามประเมินภาษีในทรัพย์สินหอพักว่ามีค่ารายปี 48,000,000 บาท สูงเกินกว่าความเป็นจริงและไม่เป็นธรรม จึงไม่ถูกต้องทั้งหลักเกณฑ์และเหตุผล เพราะมีการใช้สอยไม่เต็มทุกห้องและไม่แน่นอนเสมอไป และห้องพักของนักบวชของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยก็ไม่มีการเรียกเก็บค่าที่พัก การที่โจทก์ดำเนินการบริหารสถาบันการศึกษาดังกล่าวนั้น เป็นการดำเนินการที่ถือได้ว่าเป็นโรงเรียนสาธารณะเป็นสถาบันอุดมศึกษาสาธารณะที่มิได้มุ่งแสวงหาผลกำไรส่วนบุคคล รายได้ที่พึงได้รับจากค่าเช่าพื้นที่กลุ่มร้านค้า โรงอาหาร และหอพักนอกจากได้รับการยกเว้นการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้าแล้ว ก็ได้นำมาใช้จ่ายเป็นค่าอุปกรณ์การศึกษาที่นับว่ามีราคาสูง ค่าสถานที่อาคารต่างๆ ที่ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินมาก่อสร้าง ค่าบุคลากรต่างๆ ค่าสาธารณูปโภค ค่าพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนค่าครุภันฑ์ ค่าซ่อมแซมอาคารและสถานที่ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ชำรุดเสียหาย ทุนการศึกษา ตลอดจนก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าของสถาบันถึงกับต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินมาก่อสร้าง สำหรับรายได้ที่มีมากกว่าค่าใช้จ่ายตามที่ได้แจ้งงบดุลในระหว่างปี 2537 ถึง 2541 ซึ่งตามความในมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 ระบุว่าเมื่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย เงินจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ต้องนำกลับมาลงทุนในสถาบัน ส่วนที่เหลือถึงจะปันผลคืนผู้รับใบอนุญาต ซึ่งกรณีของโจทก์ไม่เคยมีการปันผลเงินคืนให้แก่ผู้รับใบอนุญาตคือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยเลย กิจการกลุ่มร้านค้า โรงอาหาร และหอพัก จึงอยู่ในข่ายได้รับการยกเว้นการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (3)
จำเลยทั้งสามนำสืบว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประจำปีภาษี 2545 เพื่อให้เจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีและคิดคำนวณค่าภาษีเมื่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ทำการตรวจสอบทรัพย์สินอาคารสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์แจ้งไว้ตามแบบแสดงรายการ พบว่าอาคารเรียนเป็นตึก 38 ชั้น ชั้นล่างใช้เป็นศูนย์การค้าแบ่งเป็นห้องให้เช่าพื้นที่ทำการค้า ชั้นใต้ดินเป็นที่จอดรถ ตึกอาคารเรียน 4 ชั้น ใช้เป็นห้องเรียน ตึกอาคารหอประชุม 2 ชั้น อาคารโรงอาหาร 1 ชั้น ศูนย์ควบคุมอาคาร 6 ชั้น โบสถ์ 2 ชั้น ตึก 13 ชั้น 3 หลัง แต่ละหลังแบ่งเป็นห้องใช้สำหรับเป็นหอพักนักศึกษา อาคารสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดตั้งอยู่ในที่ดินของโจทก์มีพื้นที่ใช้อาคาร พื้นที่ต่อเนื่องกับอาคารใช้เป็นลานจอดรถ บ้านพักคนงานของบริษัทก่อสร้าง ส่วนหย่อม สนามกีฬา สนามเทนนิส หลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้วจึงกำหนดค่ารายปีและแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบ การพิจารณากำหนดค่ารายปีของทรัพย์สินนั้นจำเลยที่ 1 โดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งดังกล่าวได้พิจารณาตามประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 85 โดยเทียบเคียงกับค่ารายปีของทรัพย์สินที่ให้เช่าที่มีลักษณะ ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับคล้ายคลึงกันในเขตพื้นที่ของจำเลยที่ 1 โดยคณะกรรมการได้พิจารณากำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 34 ถึง 37 เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณากำหนดค่ารายปีของทรัพย์สินในกรณีที่ทรัพย์สินไม่มีค่าเช่าหรือค่าเช่าไม่สมควร โจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2545 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีโดยไม่มีค่าเช่าทรัพย์สิน และทรัพย์สินนั้นไม่มีค่าเช่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้พิจารณากำหนดค่ารายปีและค่าภาษีตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวและตามกฎหมายทุกประการแล้วแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบ โจทก์ไม่พอใจการประเมินกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีตามที่แจ้งให้ทราบโดยโจทก์อ้างเหตุผลต่างๆ ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโดยเหตุที่โจทก์เป็นโรงเรียนสาธารณะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์ไม่ได้ขอให้พิจารณาการประเมินค่ารายปีใหม่ว่าทรัพย์สินของโจทก์มีค่ารายปีเท่าใด ค่าภาษีเท่าใด โจทก์ใช้ทรัพย์สิน อาคารและที่ดินของโจทก์ในกิจการเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและใช้ทำหอพักให้นักศึกษาเช่าอาคารและให้เช่าพื้นที่บางส่วนของอาคารในการประกอบกิจการทางธุรกิจของบุคคลอื่นด้วย ทรัพย์สินของโจทก์มิใช่ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะ ซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลตามที่คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่เสนอ และตามทางวินิจฉัยตอบข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 526/2543 บันทึกเรื่อง การเสียค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 76 ถึง 77 ที่จังหวัดสมุทรปราการได้แจ้งมาให้จำเลยที่ 1 ทราบ และใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 74 ถึง 75 จึงวินิจฉัยคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์ว่าทรัพย์สินของโจทก์ไม่อยู่ในข่ายได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกมีว่า โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 หรือไม่ ข้อนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินเนื่องจากเป็นโรงเรียนสาธารณะที่มิได้มุ่งแสวงหากำไรส่วนบุคคล เห็นว่า ตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 นั้น ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อผลกำไรส่วนบุคคลและใช้เฉพาะในการศึกษาเท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าการได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการ คือต้องเป็นทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อผลกำไรส่วนบุคคลและต้องใช้ทรัพย์สินนั้นในการศึกษาโดยเฉพาะเท่านั้น กรณีของโจทก์ปรากฏว่าโจทก์มีกำไรจากการดำเนินกิจการมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเพิ่มสูงขึ้นทุกปี งบรายได้และค่าใช้จ่ายรวมของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 149 และ 150 ปรากฏว่าในปี 2545 โจทก์มีรายได้สูงกว่ารายจ่ายกว่า 700,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าปี 2544 ถึง 300,000,000 บาท แสดงให้เห็นว่าเป็นกิจการเพื่อแสวงหาผลกำไรส่วนบุคคลมากกว่าที่จะเป็นกิจการเพื่อสาธารณะเพราะถ้าเป็นกิจการเพื่อสาธารณะแล้วก็ไม่ควรจะแสวงหากำไรมากมายถึงขนาดนั้น อีกทั้งโจทก์ยังใช้สถานที่ดังกล่าวแสวงหารายได้นอกเหนือจากการศึกษาโดยนำเอาอาคารสถานที่ไปให้บุคคลภายนอกเช่าทำเป็นศูนย์การค้า มีร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านแว่นตา ร้านถ่ายรูป ธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์ ซึ่งเห็นได้ว่าอาคารของโจทก์มิได้ใช้เฉพาะเพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียว ฟังได้ว่ากิจการของโจทก์เป็นกิจการเพื่อแสวงหาผลกำไรส่วนบุคคลและมิได้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ส่วนปัญหาข้อสุดท้ายเกี่ยวกับการประเมินนั้น เห็นว่า ตามรายละเอียดการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 12 ถึง 14 และ 18 ถึง 20 จำเลยที่ 1 ได้ประเมินค่ารายปีโดยคิดคำนวณจากค่าเช่าเฉลี่ยจากอัตราที่โจทก์ให้เช่าพื้นที่ ประกอบกับราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรที่กำหนดขึ้นตามหนังสือแนะนำของกระทรวงมหาดไทยจึงได้ค่ารายปีตามแบบ ภ.ร.ด. 2 เลขที่ 472/2545 เป็นค่ารายปี 28,295,472 บาท และตาม ภ.ร.ด. 2 เลขที่ 473/2545 เป็นค่ารายปี 51,188,688 บาท แต่จำเลยที่ 1 ได้กำหนดลดค่ารายปีลงให้โจทก์อีก ทั้งนี้ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของสถานศึกษาเอกชนอันเป็นประโยชน์แก่โจทก์โดยลดลงเหลือค่ารายปีเป็น 24,000,000 บาท เป็นค่าภาษี 3,000,000 บาท และค่ารายปี 48,000,000 บาท ค่าภาษี 6,000,000 บาท ตามลำดับ จึงเป็นการจัดเก็บภาษีด้วยความเป็นธรรม การประเมินของเจ้าพนักงานและคำชี้ขาดดังกล่าวจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน