แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
งานขับรถประจำตำแหน่งรองประธานกรรมการบริษัทไม่ใช่งานขนส่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 3(2) แต่เป็นงานอื่นตามข้อ 3(4) ซึ่งนายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานเกินกว่าสัปดาห์ละ 54 ชั่วโมงไม่ได้ เมื่อลักษณะการทำงานตามปกติมีกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดแน่นอน การทำงานนอกเหนือเวลาดังกล่าวเป็นการทำงานชั่วครั้งชั่วคราวตามที่นายจ้างสั่ง จึงไม่ใช่การทำงานนอกสถานที่ซึ่งตามสภาพไม่อาจกำหนดเวลาอันแน่นอนตามข้อ 36(7) ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 3(4) และข้อ 34 การที่ลูกจ้างยินยอมปฏิบัติงานเกินเวลาตลอดมาหาทำให้ลูกจ้างหมดสิทธิเรียกร้องไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งพนักงานขับรถต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า คืนเงินสะสมที่จำเลยหักไว้ ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับอย่างร้ายแรงหลายครั้ง โจทก์ต้องการขับรถรองประธานกรรมการของจำเลยจึงยอมทำงานตั้งแต่ 7.30-18.00 น. โดยทำงานเฉพาะตอนเช้าและเย็น ส่วนเวลากลางวันโจทก์ว่างโจทก์ทำงานอย่างมากไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง เป็นลูกจ้างประเภทงานขนส่งและเป็นงานนอกสถานที่ โดยสภาพไม่อาจกำหนดเวลาทำงานแน่นอนได้ จึงไม่มีสิทธิได้ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นคนขับรถยนต์ประจำตำแหน่งรองประธานกรรมการบริษัทจำเลย มีหน้าที่ขับรถรับนายจ้างจากบ้านมาส่งยังที่ทำงานในตอนเช้ารับกลับในตอนเย็น และในเวลาอื่นตามที่นายจ้างสั่ง แต่ไม่ใช่ลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายผู้โดยสารหรือสิ่งของทั่ว ๆ ไป ลักษณะงานที่โจทก์ทำจึงไม่ใช่งานขนส่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 3(2) แต่เป็นงานอื่นตามข้อ 3(4) ซึ่งนายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานเกินกว่าสัปดาห์ละ 54 ชั่วโมงไม่ได้ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่าเวลาทำงานปกติคือ 8.00-17.00 น. วันหยุดประจำสัปดาห์ได้แก่วันอาทิตย์ ฉะนั้นการที่จำเลยกำหนดเวลาทำงานของลูกจ้างไว้วันละ 9 ชั่วโมงจึงถูกต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยให้โจทก์ทำงานตั้งแต่เวลา 7.30-18.00 น. จึงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไปวันละ 1 1/2 ชั่วโมง
ปัญหาว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่าลักษณะการทำงานของโจทก์ตามปกติมีกำหนดเวลาเริ่มตั้นและสิ้นสุดแน่นอน การทำงานนอกเหนือเวลาดังกล่าวเป็นการทำงานชั่วครั้งชั่วคราวตามที่นายจ้างจะสั่ง ฉะนั้นจึงไม่ใช่การทำงานนอกสถานที่ซึ่งตามสภาพไม่อาจกำหนดเวลาอันแน่นอน ซึ่งลูกจ้างไม่มีสิทธิรับเงินค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 36(7) ดังนั้นเมื่อกฎหมายกำหนดว่าจำเลยจะให้โจทก์ทำงานเกินกว่าวันละ 9 ชั่วโมงไม่ได้ จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวนั้น ส่วนในระหว่างระยะเวลา 9 ชั่วโมงหากโจทก์ไม่ได้ทำหน้าที่ขับรถ จำเลยก็มีสิทธิวางระเบียบในการทำงานของโจทก์หรือสั่งให้โจทก์ปฏิบัติงานให้เหมาะสมแก่ค่าจ้างที่ต้องจ่ายให้โจทก์ได้การที่จำเลยกำหนดเวลาเริ่มต้นทำงานของโจทก์เร็วกว่าเวลาทำงานปกติครึ่งชั่วโมง และเลิกช้ากว่าปกติ 1 ชั่วโมง ส่วนในระหว่างเวลาทำงานตามปกติจำเลยมิได้มอบหมายงานให้โจทก์ทำ เช่นนี้จำเลยจะนำเวลาที่โจทก์มิได้ขับรถไปชดเชยกับการทำงานนอกเวลาทำงานปกติของโจทก์ไม่ได้นอกจากนี้ก่อนที่จำเลยจะกำหนดอัตราค่าจ้างสำหรับตำแหน่งพนักงานขับรถดังกล่าวจำเลยก็ย่อมทราบลักษณะงานที่จ้างดีอยู่แล้ว หากเห็นว่าพนักงานขับรถมีเวลาพักมากก็มีสิทธิที่จะกำหนดอัตราค่าจ้างหรือวางเงื่อนไขในการปฏิบัติงานให้เหมาะสมภายใต้บังคับของกฎหมายได้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 3(4) และ ข้อ 34 การที่โจทก์ยินยอมปฏิบัติงานข้างต้นตลอดมาไม่ทำให้หมดสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวแต่ศาลแรงงานยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในเรื่องเวลาที่จำเลยให้โจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะข้อที่ มิได้วินิจฉัยจำนวนชั่วโมงที่โจทก์ทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลากับค่าทำงานในวันหยุดที่โจทก์มีสิทธิได้รับ ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง