คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7658/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามข้อตกลงในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ระหว่างโจทก์กับธนาคารจำเลยกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ถอนเงินแต่เพียงผู้เดียว เมื่อจำเลยเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นไปย่อมเป็นการผิดจากข้อตกลงดังกล่าว การที่จำเลยถือเอาสมุดคู่ฝากและใบถอนเงินประกอบกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยเป็นหลักฐานให้บุคคลที่มาถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ไปย่อมไม่เป็นการใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอสมกับฐานะของผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ทั้งลายมือชื่อของผู้ถอนเงินในใบถอนเงินนั้นไม่มีลายมือชื่อของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และรับฝากเงินจากบุคคลทั่วไปและจำเลยมีสาขาดำเนินกิจการอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งสาขาสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม โจทก์เป็นผู้ฝากเงินไว้กับจำเลยโดยเปิดบัญชีเงินฝากประจำที่สำนักงานสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 เลขที่บัญชี 709-2-23876-5 พร้อมมอบตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ไว้แก่พนักงานของจำเลยประจำสาขานี้ซึ่งเป็นตัวแทนผู้รับฝากเงิน เพื่อใช้ในการตรวจสอบลายมือชื่อเมื่อมีการขอเบิกถอนเงินต่อไปในภายหน้า โจทก์นำเงินเข้าฝากไว้ในบัญชีดังกล่าวตลอดมาจนถึงเดือนธันวาคม 2542 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีรวมทั้งสิ้น 14,099.89 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2542 โจทก์พบว่าสมุดเงินฝากตามบัญชีของโจทก์สูญหายไป จึงแจ้งพนักงานของจำเลยออกสมุดเงินฝากเล่มใหม่และขอตรวจสอบยอดเงินในบัญชี จึงทราบว่ามีผู้ลักเอาสมุดเงินฝากของโจทก์ไปแสดงต่อพนักงานตัวแทนผู้รับฝากเงินของจำเลยและปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในใบถอนเงินแล้ว ถอนเงินออกจากบัญชีโจทก์ไปตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2542 เป็นเงิน 400,000 บาท คงเหลือเงินอยู่ในบัญชี 14,099.89 บาท เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากพนักงานซึ่งเป็นตัวแทนในการรับฝากและถอนเงินของจำเลยยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของเงินฝากถอนเงินไปโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ทำการตรวจสอบลายมือชื่อผู้ถอนเงิน และไม่ตรวจสอบหลักฐานประจำตัวบุคคลให้แน่ชัดว่าผู้ถอนเป็นบุคคลเดียวกับโจทก์หรือไม่ จึงต้องรับผิดชำระเงิน 400,000 บาท คืนโจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธ โดยแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2543 จนถึงวันฟ้อง คิดเป็นดอกเบี้ย 8,824 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 408,824 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกค้าจำเลยสาขาสมุทรสงคราม ประเภทบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 709-2-23876-5 โดยโจทก์ขอเปิดบัญชีกับจำเลยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 ยินยอมที่จะปฏิบัติตามระเบียบของจำเลยและได้มอบตัวอย่างลายมือชื่อในการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าว ระบุเงื่อนไขในการสั่งจ่ายว่า เจ้าของบัญชีลงลายมือชื่อสั่งจ่ายแต่เพียงผู้เดียวให้ไว้แก่จำเลย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2542 มีบุคคลนำสมุดคู่ฝากของโจทก์พร้อมด้วยใบถอนเงินฝากซึ่งระบุชื่อโจทก์ เลขที่บัญชีและจำนวนเงินที่ถอน 400,000 บาท มีลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้รับเงินและช่องเจ้าของบัญชีมาขอถอนเงินจากจำเลยสาขาสมุทรสงคราม 400,000 บาท จำเลยโดยสุจริตได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบการจ่ายเงินให้แก่บุคคลผู้นำสมุดคู่ฝากและใบสำคัญในการถอนเงินมาเบิกเงินจากจำเลยได้ตรวจดูลายมือชื่อในใบถอนเงินเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อที่โจทก์ได้มอบไว้ ปรากฏว่ามีลักษณะลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน จำเลยเชื่อโดยสุจริตเชื่อว่าบุคคลนั้นเป็นตัวโจทก์จริงจึงจ่ายเงิน 400,000 บาท ตามที่ขอถอนให้แก่บุคคลนั้นไปซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติงานของจำเลยโจทก์ร่วมกับบุคคลภายนอกฉ้อฉลจำเลยโดยให้บุคคลภายนอกนำสมุดคู่ฝากของโจทก์พร้อมด้วยใบถอนเงินซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ และนำมาถอนเงิน 400,000 บาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กรกฎาคม 2543) ต้องไม่เกิน 8,824 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 8,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับจำเลย สาขาสมุทรสงคราม ประเภทบัญชีเงินฝากประจำ บัญชีเลขที่ 709-2-23876-5 โดยให้ตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ไว้เพื่อการเบิกถอนเงินจากบัญชีและมีเงื่อนไขให้โจทก์เป็นผู้ถอนเงินแต่เพียงผู้เดียว จำเลยได้มอบสมุดคู่ฝากของบัญชีเงินฝากนั้นแก่โจทก์เพื่อประกอบการถอนเงินจากบัญชีโจทก์มีเงินฝากอยู่ในบัญชีดังกล่าว 400,000 บาทเศษ ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม 2542 มีบุคคลอื่นปลอมลายมือชื่อของโจทก์ในใบถอนเงินพร้อมทั้งใช้สมุดคู่ฝากดังกล่าวถอนเงินไปจากบัญชี 400,000 บาท ที่จำเลยฎีกาทำนองว่าโจทก์ไม่ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาสมุดคู่ฝาก ทำให้บุคคลอื่นนำสมุดคู่ฝากไปถอนเงิน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น จำเลยคงให้การต่อสู้แต่เพียงว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับการถอนเงินแล้วและเชื่อโดยสุจริตว่า บุคคลที่มาถอนเงินคือตัวโจทก์ จึงจ่ายเงินให้ไป โจทก์ร่วมกับบุคคลภายนอกฉ้อฉลจำเลยโดยให้บุคคลภายนอกนำสมุดคู่ฝากพร้อมใบถอนเงินที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้มาถอนเงินไป จำเลยไม่ต้องรับผิดเท่านั้น ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาวินิจฉัยเพียงข้อเดียวว่า จำเลยประมาทเลินเล่อในการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาในปัญหานี้อ้างว่าตามระเบียบปฏิบัติงานของจำเลย การเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของลูกค้าในกรณีที่ลูกค้ามาเบิกถอนเงินด้วยตนเองไม่ต้องแสดงหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน เว้นแต่บุคคลที่มาถอนเงินมีพฤติการณ์หรือมีเหตุอันควรให้สงสัย นางสาววิภาวรรณหรือชมภู่ คงรักษา พนักงานของจำเลยได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้วเชื่อโดยสุจริตว่า บุคคลที่นำสมุดคู่ฝากมาเบิกเงินเป็นตัวโจทก์จึงอนุมัติให้จ่ายเงินได้ เป็นการใช้ความระมัดระวังเพียงพอแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิด เห็นว่า ตามข้อตกลงในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ถอนเงินแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นไปย่อมเป็นการผิดจากข้อตกลงดังกล่าว นางสาววิภาวรรณพยานโจทก์และพยานจำเลยซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยทำหน้าที่เบิกจ่ายเงินหน้าเคาน์เตอร์ในวันที่มีการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของโจทก์ยังเบิกความว่าพยานเพิ่งรู้จักโจทก์เมื่อโจทก์มาติดต่อพยานเกี่ยวกับเรื่องสมุดเงินฝากของโจทก์หายไปและเงินในบัญชีของโจทก์สูญหายเป็นเงิน 400,000 บาท ซึ่งแสดงว่าในวันที่มีการเบิกจ่ายเงินไปจากบัญชีของโจทก์ในครั้งนี้ พยานไม่รู้จักตัวโจทก์และไม่ได้ตรวจสอบบัตรประชาชนของผู้ขอเบิกเงินเสียก่อน ในกรณีเช่นนี้พยานซึ่งพนักงานของจำเลยและจำเลยในฐานะผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ย่อมต้องใช้ความระมัดระวังตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อนว่า บุคคลที่มาขอเบิกเงินจากบัญชีฝากของโจทก์คือตัวโจทก์โดยอาจขอดูบัตรแสดงตัวของบุคคลดังกล่าว ซึ่งอาจได้แก่บัตรประจำตัวประชาชน การที่จำเลยถือเอาสมุดคู่ฝากและใบถอนเงินประกอบกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยเป็นหลักฐานให้บุคคลดังกล่าวถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ไปย่อมไม่เป็นการใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอสมกับฐานะของผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ทั้งยังได้ความว่า ลายมือชื่อของผู้ถอนเงินในใบถอนเงินนั้นไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์แต่อย่างใด นอกจากนี้ตามระเบียบปฏิบัติงานของจำเลยเกี่ยวกับการถอนเงินฝากประจำ ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับพนักงานของจำเลยก็กำหนดแต่เพียงว่าผู้ฝากหรือเจ้าของบัญชีต้องมาถอนเงินด้วยตนเองแล้วให้พนักงานของจำเลยตรวจรายงานในใบถอนเงินและการลงลายมือชื่อของเจ้าของบัญชีให้เรียบร้อยปรากฏตามคู่มือและระเบียบปฏิบัติงานเอกสารหมาย ล.4 มิได้กำหนดว่าการที่ลายมือชื่อของผู้ขอเบิกเงินในใบเบิกเงินเหมือนหรือคล้ายกับตัวอย่างลายมือชื่อของผู้ฝากหรือเจ้าของบัญชีแล้วให้ถือว่าบุคคลผู้มาขอเบิกเงินเป็นผู้ฝากเงินหรือเจ้าของบัญชีด้วยโดยไม่ต้องตรวจดูบัตรประจำตัวประชาชนดังที่จำเลยอ้าง ดังนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 4,000 บาท แทนโจทก์.

Share