คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 103/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่มีผิดแม้เพียงฐานสมรู้ ก็ต้องร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์กับผู้ที่มีผิดฐานเป็นตัวการด้วยเหมือนกัน
ความผิดฐานสมรู้ในการชิงทรัพย์ ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา ม.339 และ 86 เพราะเป็นบทกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยกว่า ก.ม. ลักษณะอาญา ม.298 และ 65.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนายจวนซึ่งศาลลงโทษไปแล้ว สมคบกันชิงทรัพย์นางหน๊ะ กับนายสุทิศ รวม ๕,๓๐๗.๕๐ บาท ขอให้ลงโทษตาม ก.ม. ลักษณะอาญาม.๒๙๘,๖๓ ประมวล ก.ม. ลักษณะอาญา ม.๓๓๙,๘๓,๘๙. และขอให้คืนหรือใช้ทรัพย์ที่ยังขาด ๕,๒๕๗.๕๐ บาท.
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าสมรู้เป็นใจให้นายจวนทำการชิงทรัพย์ ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานสมรู้ได้ พิพากษาว่า จำเลยผิด ก.ม. ลักษณะอาญา ม.๒๘๙ ประมวล ก.ม. อาญา ม.๓๑ แต่ให้ลงโทษตาม ก.ม. ลักษณะอาญา ๒๙๔ จำคุก ๔ ปี ลดฐานสมรู้ ๑ ใน ๓ ตาม ม.๖๕ คงจำคุก ๒ ปี ๘ เดือน และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๕,๒๕๗.๕๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์สงสัยคำพยานโจทก์ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ชักชวนนางหน๊ะ เจ้าทรัพย์ให้นำเครื่องทองรูปพรรณไปขายที่บ้านจำเลยโดยหลอกลวงว่าจะมีคนซื้อแล้วจำเลยก็นำไป ครั้นถึงที่เปลี่ยว จำเลยหลบหน้าเสีย ปล่อยให้นายจวนทำการชิงทรัพย์นางหน๊ะ เช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยวางแผนการชิงทรัพย์มาตั้งแต่แรกที่เดียว จำเลยจึงต้องมีความผิด ที่ศาลขั้นต้นลงโทษจำเลยเพียงฐานสมรู้ในการชิงทรัพย์ โจทก์มิได้อุทธรณ์ก็เป็นผลดีแต่จำเลยแล้ว
พิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้นโดยให้ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ เว้นแต่บทความผิดฐานสมรู้นั้นให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา ม.๓๓๙ และ ๘๒ เพราะเป็นบทกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย

Share