คำวินิจฉัยที่ 34/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๔/๒๕๔๖

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙

ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง)

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในอำนาจเช่นกัน

ข้อเท็จจริงในคดี
บริษัทประกันภัยคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องกรมสรรพาวุธทหารบก ที่ ๑ และกองทัพบกที่ ๒ ต่อศาลปกครองนครราชสีมา ความว่า เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๔ เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดออกไปทำลาย ณ สถานที่ทำลายวัตถุระเบิดด้วยความประมาทและปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เกิดการระเบิดก่อนถึงจุดทำลายและทำให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน บล ๖๗๒ นครราชสีมา ที่ผู้ฟ้องคดีรับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๔๗,๒๔๒.๕๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีได้เคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง) เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๘/๒๕๔๕ แต่ศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง) มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๖ ว่า คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีเป็นละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานและหน่วยงานราชการ เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ให้จำหน่ายคดีและให้ผู้ฟ้องคดีไปฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
ศาลปกครองนครราชสีมาเห็นว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๑ ซึ่งสังกัดผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๒ ได้ทำการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดออกไปทำลาย ณ สถานที่ทำลายวัตถุระเบิด แต่วัตถุระเบิดที่ถูกเคลื่อนย้ายเกิดระเบิดขึ้นก่อนถึงสถานที่ทำลายวัตถุระเบิด และก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของผู้เอาประกันภัยของผู้ฟ้องคดี ซึ่งแม้จะเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่โดยที่การกระทำอันเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายในกรณีนี้คือ การทำลายวัตถุระเบิด เป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาและโดยทั่วไปของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และเป็นการกระทำทางกายภาพ มิใช่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หากแต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง ทั้งนี้ตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นฝ่ายปกครองหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๖ มาตรา ๑๗ ประกอบพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ส่วนราชการกองทัพบก กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๔ (๒๔) และมาตรา ๕ (๒๔) กำหนดให้กองทัพบกมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีกรมสรรพาวุธทหารบกเป็นส่วนราชการในสังกัด มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการและสิ่งอุปกรณ์ของเหล่าทหารสรรพาวุธ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงมีฐานะเป็นฝ่ายปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประเด็นที่ต้องพิจารณาถัดไปมีว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นคดีละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงตามฟ้อง ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และการดำเนินการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดออกไปทำลาย ณ สถานที่ทำลายวัตถุระเบิด ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อเกิดความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ กรณีจึงเป็นไปตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม แต่การดำเนินการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดออกไปทำลาย ถือเป็นเพียงปฏิบัติการทางปกครองทางกายภาพเพื่อให้กิจการของฝ่ายปกครองเกิดผลสำเร็จเท่านั้น กรณีนี้ มิได้เป็นเรื่องการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น คดีพิพาทจึงมิใช่เรื่องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ หรือคำสั่งทางปกครอง ฯ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง หากแต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑/๒๕๔๕, ๒/๒๕๔๕ และ ๕/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ระหว่างบริษัทประกันภัยคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี กับกรมสรรพาวุธทหารบก ที่ ๑ และกองทัพบก ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง)

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) พลโท อัฎฐพร เจริญพานิช
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (อัฏฐพร เจริญพานิช)
ประธานศาลปกครองสูงสุด หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร

(ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร (ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(อาชวัน อินทรเกสร) (นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share