แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๓๕/๒๕๔๖
วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๖
เรื่อง การยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๕ ประกอบมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด โดยนายธนวัฒน์ อนันต์วุฒิสมบัติ ทนายความ ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายกลางและศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขัดแย้งกันตามมาตรา ๑๕ ประกอบมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
ข้อเท็จจริงในคดี
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด โดยนายธนวัฒน์ อนันต์วุฒิสมบัติ ทนายความ ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายกลางและศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขัดแย้งกันตามมาตรา ๑๕ ประกอบมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๒ ผู้ร้อง (ขณะนั้นชื่อบริษัท ไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด) ได้ยื่นฟ้องบริษัท สหวิริยาซิตี้ จำกัด (มหาชน) ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๘๕๖/๒๕๔๒ มูลหนี้ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด (หุ้นกู้) ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๓ ให้จำเลยชำระหนี้โจทก์ จำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย (คดีหมายเลขแดงที่ ๖๖๖๐/๒๕๔๓) ผู้ร้องนำส่งคำบังคับแจ้งลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้แล้วครบกำหนดตามคำบังคับลูกหนี้เพิกเฉย ผู้ร้องจึงยื่นคำขอให้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ ศาลมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๔ ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดห้องชุดของลูกหนี้จำนวน ๑๑ ห้อง คดีอยู่ระหว่างการประกาศขายทอดตลาด
ต่อมา วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๔ นายสุวิทย์ เวฬุวัน กับพวก ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ต่อศาลล้มละลายกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ. ๑๐๖๒/๒๕๔๔ ระหว่าง นายสุวิทย์ เวฬุวัน ที่ ๑ กับพวก ผู้ร้อง กับบริษัท สหวิริยาซิตี้ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่ง เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๔ ให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งบริษัทเชอชิลล์ไพรซ์ แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามคดีหมายเลขแดงที่ ๙๙๒/๒๕๔๔ การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ของผู้ร้องจึงต้องงดการบังคับคดีไว้ตามมาตรา ๙๐/๑๒ (๕) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๑ และต่อมา เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๖ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ส่งมอบหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดจำนวน ๒๕ ฉบับ ซึ่งมีทรัพย์ที่ผู้ร้องได้นำยึดรวมอยู่ด้วยแก่ผู้บริหารแผนเพื่อดำเนินการนำสินทรัพย์ออกขายชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามที่ระบุไว้ในแผน ทั้งนี้ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๖ ของผู้บริหารแผน โดยให้ผู้บริหารแผนเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมการยึดแล้วไม่มีการขายทอดตลาด ผู้ร้อง ในฐานะเจ้าหนี้รายที่ ๓๗ เห็นว่า คำสั่งศาลล้มละลายกลางดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นคำร้องขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์ และยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งถอนการยึดของศาลล้มละลายกลาง ซึ่งต่อมา อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๖ และวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๖ ตามลำดับ คดีของผู้ร้องเป็นอันถึงที่สุดตามคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลล้มละลายกลาง
ผู้ร้องเห็นว่า ศาลล้มละลายกลางไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดทรัพย์ของผู้ร้องและเจ้าหนี้รายอื่น โดยให้ผู้บริหารแผนเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการยึดโดยไม่มีการขายทอดตลาดได้ เพราะอำนาจในการสั่งถอนการยึดทรัพย์เป็นอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งเป็นศาลที่ได้ดำเนินการบังคับคดี และมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีเพื่อรอฟังผลการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรณีจึงเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายกลางและศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขัดกัน เนื่องจากศาลล้มละลายกลางมิได้เป็นศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของการบังคับคดี ศาลล้มละลายกลางมีอำนาจพิจารณาเกี่ยวกับการขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามคำขอของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เท่านั้น ผู้ร้องจึงขอให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและมีคำสั่งว่า ศาลล้มละลายกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์ โดยให้ผู้บริหารแผนเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการยึดโดยไม่มีการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลลงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๕ ได้ คำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์ของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดกับคำสั่งของศาลแพ่งกรุงเทพใต้
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คำร้องของผู้ร้องชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่า ตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัท สหวิริยาซิตี้ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งศาลออกหมายบังคับคดี และผู้ร้องได้ทำการบังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้คือ อาคารห้องชุดจำนวน ๑๑ ห้อง ไว้แล้ว ต่อมา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และมีคำสั่งอันถึงที่สุดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งมอบหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ผู้ร้องนำยึดไว้ เพื่อนำออกขายชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ กรณีจึงเป็นการที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งขัดกัน ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดว่า ศาลล้มละลายกลางไม่มีอำนาจเพิกถอนการยึดทรัพย์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ กำหนดให้ศาลมี ๔ ประเภท คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทบางกรณีอาจจะเกิดการคาบเกี่ยวกันในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เพื่อขจัดข้อขัดแย้งดังกล่าว มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง จึงบัญญัติว่า “ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น ให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดโดยคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลอื่น และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินสี่คน ตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นกรรมการ” ดังนั้น การขัดแย้งกันในเรื่องอำนาจหน้าที่ของศาลตามรัฐธรรมนูญ จึงจะต้องเป็นการขัดแย้งอำนาจหน้าที่กันระหว่างศาลแต่ละประเภท เช่น ระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลปกครอง หรือระหว่างศาลปกครองกับศาลทหาร เป็นต้น แต่ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดคำสั่งอันถึงที่สุดในเรื่องของการบังคับคดีระหว่างศาลแพ่งกรุงเทพใต้กับศาลล้มละลายกลาง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๒ ประกอบกับพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒ กำหนดให้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นศาลยุติธรรม และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๑ ก็กำหนดให้ศาลล้มละลายกลางเป็นศาลยุติธรรมด้วยเช่นกัน ดังนั้น คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลยุติธรรมขัดแย้งกันเอง มิได้เป็นไปตามมาตรา ๑๕ ประกอบมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จึงมีคำสั่งว่า การยื่นคำร้องของผู้ร้องคดีนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ อาศัยอำนาจตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ ให้ยกคำร้องนี้เสีย
(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ