แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างกันไว้ 4 ฉบับ กำหนดระยะเวลาจ้างติดต่อกัน สัญญาจ้างแต่ละฉบับกำหนดเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ไว้เป็นเงินบาท แต่สัญญาฉบับแรกมิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับเงินชดเชยอัตราแลกเปลี่ยน เพิ่งจะมีขึ้นในฉบับที่ 2 ถึงฉบับที่ 4 ความว่า เงินเดือนของโจทก์ตามที่กำหนดไว้ต้องมีการปรับยอดประจำเดือนทุกเดือนในวันที่ 25 ของแต่ละเดือนเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาทและสกุลเหรียญสหรัฐ โดยให้นำเงินเดือนของโจทก์ร้อยละ 50 ซึ่งถือว่ามีอัตราแลกเปลี่ยน 29 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐมาปรับยอดตามอัตราแลกเปลี่ยนหรืออัตราซื้อขายกลาง เงินชดเชยอัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์จะได้รับในแต่ละเดือนจึงไม่ครอบคลุมถึงเงินเดือนของโจทก์ทั้งหมด และมีจำนวนไม่แน่นอนผันแปรไปตามอัตราแลกเปลี่ยนหรืออัตราซื้อขายกลางในวันที่มีการปรับยอด เดือนใดที่อัตราแลกเปลี่ยนหรืออัตราซื้อขายกลางมีค่าเท่ากับหรือน้อยกว่า 29 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐโจทก์ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยอัตราแลกเปลี่ยน เงินชดเชยอัตราแลกเปลี่ยนจึงไม่ใช่เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานตามปกติ ส่วนเงินค่าเช่าบ้านแม้จะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทุกเดือนมีจำนวนแน่นอนและจ่ายโดยไม่มีเงื่อนไข แต่จำเลยก็จ่ายให้แก่ลูกจ้างของจำเลยที่เป็นชาวต่างประเทศต้องเดินทางมาทำงานในประเทศไทย ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่พักอาศัยไปจากที่เคยอยู่เดิมเช่นเดียวกับโจทก์ทุกคน อันเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่จำเลยจัดให้แก่ลูกจ้างที่เป็นชาวต่างประเทศเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานไม่ใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานตามปกติเช่นกัน และการจ่ายเงินทั้งสองประเภทดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงการจ่ายค้าจ้าง จึงไม่ใช่ค่าจ้าง
จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายเงินอื่นที่โจทก์มีสิทธิได้รับไปแล้วเมื่อจำเลยเลิกจ้าง แม้ในที่สุดศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยว่าไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างก็มีเหตุที่จำเลยจะเข้าใจว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง เพราะเมื่อจำเลยได้ทราบจากการชี้แนะของศาลในระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยก็ได้นำค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายมาวางไว้ต่อศาลและขอให้โจทก์รับไป พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร อันจะทำให้จำเลยต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง
การพิจารณาว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาที่เหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ โดยไม่คำนึงว่านายจ้างมีสิทธิที่จะเลิกจ้างได้หรือไม่ ไม่ว่าสิทธินั้นจะเป็นสิทธิที่เกิดจากบทบัญญัติของกฎหมายหรือข้อตกลงในสัญญาจ้าง ปรากฏตามหนังสือเลิกจ้างว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะจำเลยหมดความจำเป็นที่จะต้องมีขั้นตอนในการควบคุมดูแลโครงการก่อสร้างและออกแบบโครงสร้างใต้ดินตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรกส่วนเหนือช่วงห้วยขวางถึงบางซื่ออย่างที่จำเลยดำเนินการอยู่ในปี 2545 ต่อไปแล้ว ในปี 2546 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ เหตุดังกล่าวแม้จะมีอยู่จริงก็ไม่เป็นเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ เพราะโครงการก่อสร้างและออกแบบโครงสร้างใต้ดินตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรกส่วนเหนือช่วงห้วยขวางถึงบางซื่อที่จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการพาณิชย์แล้ว จำเลยยังรับจ้างการประปานครหลวงก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากโรงงานผลิตน้ำบางเขนถึงถนนงามวงศ์วานและประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทยอยู่ด้วย จำเลยจึงยังมีงานอื่นที่จะให้โจทก์ทำต่อไป เมื่อไม่ปรากฏว่างานดังกล่าวเป็นงานที่โจทก์ไม่สามารถจะทำได้จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จำเลยจะต้องเลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยอันเนื่องมาจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 1,489,626 บาท โบนัสสำหรับการทำงานตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงครบกำหนดตามสัญญาจ้างรวม 55 วัน เป็นเงิน 37,930 บาท ค่าขนส่งสัมภาระกลับประเทศอังกฤษจำนวน 100,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 1,489,629 บาท จำเลยจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยดังกล่าวให้โจทก์จึงต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของเงินค่าชดเชยทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นต้นไป เฉพาะเงินเพิ่มถึงวันฟ้อง จำนวน 9,549,731 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ของค่าชดเชยจำนวน 1,489,626 บาท ทุกระยะเวลา 7 วัน นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยขอวางเงินจำนวน 942,000 บาท อันเป็นค่าชดเชยที่จำเลยเข้าใจว่าโจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายเพื่อให้โจทก์มารับไปจากศาล และโจทก์ยอมรับเงินดังกล่าวแต่แถลงว่าขอรับไปในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของค่าชดเชยที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น โจทก์ยังติดใจค่าชดเชยในส่วนที่ยังขาด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในเงินค่าชดเชยจำนวน 942,000 บาท นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2547 แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สำหรับในปัญหาประการแรกเรื่องค่าชดเชย โจทก์อุทธรณ์ว่า เงินชดเชยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนละ 38,271 บาท กับค่าเช่าบ้านเดือนละ 53,000 บาท เป็นค่าจ้างจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ 942,000 บาท โดยไม่นำเงินดังกล่าวมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยเป็นการไม่ถูกต้อง โจทก์จึงยังไม่ได้รับค่าชดเชยอีก 547,626 บาท เห็นว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างกันไว้ 4 ฉบับ กำหนดระยะเวลาจ้างติดต่อกัน สัญญาจ้างดังกล่าวแต่ละฉบับกำหนดเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ไว้ในข้อ 2 เป็นเงินบาท โดยสัญญาจ้างฉบับแรกมิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับเงินชดเชยอัตราแลกเปลี่ยน เพิ่งจะมีขึ้นในฉบับที่ 2 ถึงฉบับที่ 4 ความว่า เงินเดือนของโจทก์ตามที่กำหนดไว้ต้องมีการปรับยอดประจำเดือนทุกเดือนในวันที่ 25 ของแต่ละเดือนเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาทและสกุลเหรียญสหรัฐ โดยให้นำเงินเดือนของโจทก์ร้อยละ 50 ซึ่งถือว่ามีอัตราแลกเปลี่ยน 29 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ มาปรับยอดตามอัตราแลกเปลี่ยนหรืออัตราซื้อขายกลาง เงินชดเชยอัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์จะได้รับในแต่ละเดือนจึงไม่ครอบคลุมถึงเงินเดือนของโจทก์ทั้งหมด และมีจำนวนไม่แน่นอนผันแปรไปตามอัตราแลกเปลี่ยนหรืออัตราซื้อขายกลางในวันที่มีการปรับยอด เดือนใดที่อัตราแลกเปลี่ยนหรืออัตราซื้อขายกลางมีค่าเท่ากับหรือน้อยกว่า 29 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ โจทก์ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยอัตราแลกเปลี่ยน เงินชดเชยอัตราแลกเปลี่ยนจึงไม่ใช่เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานตามปกติ ส่วนเงินค่าเช่าบ้านแม้จะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทุกเดือนมีจำนวนแน่นอนและจ่ายโดยไม่มีเงื่อนไข แต่จำเลยก็จ่ายให้แก่ลูกจ้างของจำเลยที่เป็นชาวต่างประเทศต้องเดินทางมาทำงานในประเทศไทย ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่พักอาศัยไปจากที่เคยอยู่เดิมเช่นเดียวกับโจทก์ทุกคน อันเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่จำเลยจัดให้แก่ลูกจ้างที่เป็นชาวต่างประเทศเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน ไม่ใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานตามปกติเช่นกัน และการจ่ายเงินทั้งสองประเภทดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าจ้าง จึงไม่ใช่ค่าจ้างไม่อาจนำมารวมเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยได้ ที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ 942,000 บาท จึงถูกต้องแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการที่สองเรื่องเงินเพิ่ม ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเลิกจ้างโดยจ่ายเงินอื่นที่โจทก์มีสิทธิได้รับให้โจทก์รับไปแล้วเมื่อจำเลยเลิกจ้างรวมเป็นเงิน 602,736 บาท อันได้แก่เงินเดือนของเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2546 เงินชดเชยอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับเดือนธันวาคม 2545 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2546 โบนัสตามส่วนกับค่าตั๋วเครื่องบินระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546 และค่าตั๋วเครื่องบินในการย้ายกลับประเทศอังกฤษ ทั้งจำเลยจ้างโจทก์ทำงานในโครงการก่อสร้างและออกแบบโครงสร้างใต้ดินตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรกส่วนเหนือ ช่วงห้วยขวางถึงบางซื่อ โดยกำหนดระยะเวลาจ้างกันไว้ ซึ่งแม้ในที่สุดศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ที่จำเลยทราบว่าจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ จำเลยจึงนำค่าชดเชยจำนวนที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายจำนวน 942,000 บาท มาวางศาลและแถลงยินยอมให้โจทก์ได้รับเงินดังกล่าวไปซึ่งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างก็ถือว่ามีเหตุที่จำเลยจะเข้าใจว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างกรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร อันจะทำให้จำเลยต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง ที่ศาลแรงงานกลางยกคำขอให้จำเลยเสียเงินเพิ่มจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาประการสุดท้ายเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่า การพิจารณาว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาที่เหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีสาเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ โดยไม่คำนึงว่านายจ้างมีสิทธิที่จะเลิกจ้างได้หรือไม่ ไม่ว่าสิทธินั้นจะเป็นสิทธิที่เกิดจากบทบัญญัติของกฎหมายหรือข้อตกลงในสัญญาจ้าง เมื่อปรากฏตามหนังสือเลิกจ้างว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะจำเลยหมดความจำเป็นที่จะต้องมีขั้นตอนในการควบคุมดูแลโครงการก่อสร้างและออกแบบโครงสร้างใต้ดินตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรกส่วนเหนือ ช่วงห้วยขวางถึงบางซื่ออย่างที่จำเลยดำเนินการอยู่ในปี 2545 ต่อไปแล้ว ในปี 2546 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เหตุดังกล่าวแม้จะมีอยู่จริงก็ไม่เป็นเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจากโครงการก่อสร้างและออกแบบโครงสร้างใต้ดินตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรกส่วนเหนือ ช่วงห้วยขวางถึงบางซื่อที่จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการพาณิชย์แล้ว จำเลยยังรับจ้างการประปานครหลวงก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากโรงงานผลิตน้ำบางเขนถึงถนนงามวงศ์วาน และประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทยอยู่ด้วย จำเลยจึงยังมีงานอื่นที่จะให้โจทก์ทำต่อไป เมื่อไม่ปรากฏว่างานดังกล่าวเป็นงานที่โจทก์ไม่สามารถจะทำได้จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จำเลยจะต้องเลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่การกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้เป็นดุจพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่สามารถกำหนดเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณากำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์แล้วพิพากษาประเด็นนี้ใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.