แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บิดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้บิดาจำเลยไปแล้วและขณะมีการทำสัญญาซื้อขายนั้นที่ดินของบิดาโจทก์มีเพียงสิทธิครอบครอง แม้สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะไม่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็ตาม แต่บิดาโจทก์ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาจำเลยแล้ว สิทธิครอบครองจึงตกแก่บิดาจำเลย บิดาจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยสมบูรณ์ เมื่อบิดาจำเลยถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมย่อมมีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นสิทธิครอบครองของจำเลย จำเลยจึงเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา ต่อมาขอออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) จำเลยและบริวารบุกรุกเข้าไปทำนาในที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกสุดของแปลงเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ 85 ตารางวา เป็นการรบกวนและโต้แย้งสิทธิการครอบครองในที่ดินพิพาทของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้ทำนาในที่ดินพิพาทปี 2543 ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท กับให้จำเลยชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการทำนาในที่ดินพิพาทปี 2543 จำนวน 10,000 บาท และปีถัดไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยตกทอดมาทางมรดก จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาทตลอดมา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 10,000 บาท นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นบุตรของนายศรีหรือสีเดิมนายศรีมีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ 33 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา ในปี 2498 นายศรีได้เอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ต่อมาปี 2500 นายศรีได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในที่ดินแปลงดังกล่าวตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยเป็นบุตรของนายเหรียญและนางสมุ เมื่อปี 2517 นายเหรียญได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 11 ไร่ 84 ตารางวา ตามแผนที่วิวาท ตลอดมาจนถึงปี 2539 นายเหรียญถึงแก่ความตายจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อมา โจทก์อ้างว่าขณะที่บิดายังมีชีวิตอยู่ได้นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปจำนองแก่สหกรณ์อุดมศิลป์ ไม่จำกัดสินใช้หรือสหกรณ์การเกษตรเมืองสุรินทร์ จำกัด ต่อมาบิดาโจทก์ต้องการขึ้นเงินจำนองแต่สหกรณ์ดังกล่าวไม่อนุมัติ กลางปี 2517 บิดาโจทก์กู้ยืมเงินจากบิดาจำเลยจำนวน 8,000 บาท โดยบิดาโจทก์ยินยอมให้บิดาจำเลยทำนาในที่ดินพิพาทต่างดอกเบี้ย ส่วนจำเลยอ้างว่าเมื่อปี 2517 บิดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้บิดาจำเลยในราคาร 30,000 บาท ตามหนังสือสัญญาการซื้อขาย หลังจากนั้นบิดาจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปี 2539 บิดาจำเลยถึงแก่ความตาย จำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อมาจนถึงวันฟ้องในฐานะผู้สืบสิทธิของบิดาจำเลยคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยทำกินต่างดอกเบี้ยหรือครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ เห็นว่า โจทก์มีเพียงพยานบุคคลเท่านั้นที่มาเบิกความสนับสนุนว่าบิดาโจทก์กู้ยืมเงินจากบิดาจำเลยโดยบิดาโจทก์มอบที่ดินพิพาทให้บิดาจำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย แต่พยานบุคคลของโจทก์ไม่ว่าจะเป็นนายเสนีย์ นางสงวน นางยินดี นางสาวประไพ และนายสวัสดิ์ต่างเบิกความว่าไม่รู้เห็นในเรื่องดังกล่าว เพียงแต่ได้รับการบอกเล่ามาว่าบิดาโจทก์กู้ยืมเงินบิดาจำเลยโดยบิดาโจทก์มอบที่ดินพิพาทให้บิดาจำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนจำเลยมีพยานบุคคลและพยานเอกสาร คือหนังสือสัญญาการซื้อขายซึ่งเมื่อพิจารณาหนังสือสัญญาการซื้อขายดังกล่าวแล้ว มีข้อคาวามระบุว่าขายที่นา 1 แปลงทิศเหนือจดทางเกวียน ทิศใต้จดนายเสงี่ยม ทิศตะวันตกจดนายศรี ทิศตะวันออกจดนายเดียนและโรงเรียน ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีอาณาเขตสอดคล้องกับแผนที่วิวาท และยังระบุว่านายศรีตกลงขายที่ดินให้แก่นายเหรียญ มีลายมือชื่อนายศรีและนายเหรียญเป็นผู้ขายและผู้ซื้อตามลำดับในราคา 30,000 บาท นายศรียอมมอบที่ดินให้แก่นายเหรียญในวันทำสัญญา จำเลยและนางสมุได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานไว้ในสัญญาโดยนายไสรเป็นผู้เขียนสัญญา และเมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อนายศรีตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินกับลายมือชื่อผู้ขายแล้ว มีลักษณะการเขียนและตัวอักษรคล้ายกัน ประกอบกับหนังสือสัญญาการซื้อขายซึ่งเป็นต้นฉบับมีสภาพเก่ามาก ไม่น่าเชื่อว่าจะเพิ่งมีการทำขึ้นมา ซึ่งโจทก์เองก็ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าหนังสือสัญญาการซื้อขายเป็นเอกสารปลอมเพียงนำสืบว่าเป็นการกู้ยืมเงินและไม่ได้เป็นการซื้อขายกันจริง หนังสือสัญญาการซื้อขายดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้รับรองหนังสือสัญญาการซื้อขายนั้นซึ่งมาเป็นพยานในคำขอคัดค้านของจำเลยเพราะไม่ใช่เจ้าพนักงานที่ดิน พอแปลได้ว่าโจทก์ไม่ยอมรับหนังสือสัญญาการซื้อขายดังกล่าวเนื่องจากไม่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดิน อย่างไรก็ตามขณะมีการทำสัญญาการซื้อขายที่ดินนั้น ที่ดินของบิดาโจทก์มีเพียงสิทธิครอบครองซึ่งโจทก์รับว่าบิดาโจทก์ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาจำเลยเข้าทำนา นอกจากนี้จำเลยยังมีนางจำเนียรและนางแหลมทองน้องสาวโจทก์ที่ต่างก็เป็นบุตรของนายศรีเป็นพยานจำเลย ซึ่งพยานทั้งสองเบิกความเป็นปรปักษ์ต่อโจทก์โดยเบิกความยืนยันว่า นายศรีขายที่ดินพิพาทให้นายเหรียญบิดาจำเลยทั้งๆ ที่พยานจำเลยทั้งสองต่างมีส่วนได้เสียที่จะได้รับมรดกจากนายศรีเช่นเดียวกับโจทก์และการเบิกความเช่นนี้ย่อมทำให้มรดกของนายศรีที่ตนเองจะได้รับลดน้อยลงไปอีกซึ่งไม่เป็นผลดีต่อพยานจำเลยทั้งสอง จึงน่าเชื่อว่าพยานจำเลยทั้งสองเบิกความไปตามความจริง ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าบิดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้บิดาจำเลยไปแล้วและขณะมีการทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ที่ดินของบิดาโจทก์มีเพียงสิทธิครอบครองแม้สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะไม่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็ตาม แต่บิดาโจทก์ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาจำเลยแล้ว สิทธิคีรอบครองจึงตกแก่บิดาจำเลย บิดาจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยสมบูรณ์ เมื่อบิดาจำเลยถึงแก่ความตายจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมย่อมมีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นสิทธิครอบครองของจำเลย จำเลยจึงเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท