คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6147/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโจทก์กล่าวหาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำงานสิ่งบันทึกเสียงซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 (1) และละเมิดลิขสิทธิ์โดยการทำซ้ำงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 4 เป็นความผิดตามมาตรา 30 (1) ซึ่งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องแสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำผิดดังกล่าวโดยมีเจตนาแยกต่างหากจากกัน จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีเจตนาเดียวกันในการทำซ้ำงานต่าง ๆ ดังกล่าว การกระทำจึงเป็นกรรมเดียว แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องปรับบทความผิดทุกบท แต่การลงโทษต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ตาม ป.อ. มาตรา 90
การละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 (1) และมาตรา 30 (1) เพื่อการค้า ต้องระวางโทษตามมาตรา 69 วรรคสอง มาตราเดียวกัน ย่อมมีโทษเท่ากัน และสมควรลงโทษตามมาตรา 30 (1) ประกอบด้วยมาตรา 69 วรรคสอง

ย่อยาว

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 อุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ลงวันที่ 20 เดือน มิถุนายน พุทธศักราช 2543 ศาลฎีกา รับวันที่ 28 กันยายน พุทธศักราช 2543
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 28, 30, 61, 69, 75, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ให้ริบของกลาง แต่แผ่นซีดีและแผ่นแม่พิมพ์ซีดีรวมจำนวน 16 แผ่น ให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 7 ให้การปฏิเสธ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 7 เป็นคดีใหม่แล้ว
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 69 วรรคสอง ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือนแผ่นซีดี 13 แผ่น และแผ่นแม่พิมพ์ซีดี 3 แผ่น ของกลางให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดให้ริบ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโจทก์ได้กล่าวหาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำงานสิ่งบันทึกเสียงซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 (1) และละเมิดลิขสิทธิ์โดยการทำซ้ำงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 4 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) ซึ่งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องแสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำผิดดังกล่าวโดยมีเจตนาแยกต่างหากจากกัน จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีเจตนาเดียวกันในการทำซ้ำงานต่าง ๆ ดังกล่าว การกระทำจึงเป็นกรรมเดียว แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องปรับบทความผิดทุกบท แต่การลงโทษต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และเมื่อการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 (1) และมาตรา 30 (1) เพื่อการค้า ต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง มาตราเดียวกัน ย่อมมีโทษเท่ากัน และสมควรลงโทษตามมาตรา 30 (1) ประกอบด้วยมาตรา 69 วรรคสอง นั้น เห็นได้ว่าเป็นการอ้างบทกฎหมายที่ผิดหลงโดยไม่ถูกต้อง เพราะความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) เป็นกรณีที่ผู้กระทำผิดนำงานที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นไปหาประโยชน์ด้วยวิธีการที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังกล่าว ที่ต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 ซึ่งโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 (1), 30 (1) ประกอบด้วยมาตรา 69 วรรคสอง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดดังกล่าวมีระวางโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) ประกอบด้วยมาตรา 69 วรรคสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share