คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1012/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถ โจทก์ได้ลาป่วยในรอบปีงบประมาณ 2530 เป็นเวลาถึง 34 วัน โดยลาป่วยเป็นประจำทุกเดือนแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถตรากตรำทำงานหนักในหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถได้ทั้งจำเลยก็เคยมีหนังสือเตือนโจทก์มาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่โจทก์ก็ยังคงลาป่วยอีก ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน เป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลบังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ฐานหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นพนักงานขับรถต้องตรากตรำทำงานหนัก การเจ็บป่วยเป็นผลเนื่องมาจากการทำงานทั้งตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 45ไม่มีข้อความใดระบุว่า ถ้าโจทก์ลาเกินสิทธิจะถือเป็นเหตุเลิกจ้างได้ การที่โจทก์ลาป่วยเกินสิทธิ 4 วันและลากิจเพียง3 วันจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นพิเคราะห์แล้วในปัญหาดังกล่าวนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำรายวันของจำเลยปฏิบัติงานในหน้าที่พนักงานขับรถประจำทางในปีงบประมาณ 2530 คือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2529ถึงเดือนกันยายน 2530 โจทก์ลาป่วย 34 วันและลากิจ 3 วันโดยโจทก์ลาป่วยทุกเดือนอย่างน้อยเดือนละ 1 วันจำเลยเคยมีหนังสือเตือนโจทก์แล้ว 2 ครั้งในกรณีพนักงานลาเกินสิทธิ ข้อเท็จจริงได้ความดังกล่าวเห็นว่าแม้ข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฉบับที่ 45 ว่าด้วยการลาและการจ่ายเงินหรือค่าจ้างระหว่างลาข้อ 9.2 จะระบุว่าในปีหนึ่งพนักงานประจำรายวันมีสิทธิลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างเต็มไม่เกิน 30 วันโดยข้อบังคับของจำเลยไม่มีข้อความใดระบุว่า ถ้าลาเกินกว่ากำหนดดังกล่าวจะถือเป็นเหตุเลิกจ้างได้ก็ตาม แต่การที่โจทก์ลาป่วยในรอบปีงบประมาณ2530 คือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2529 ถึงเดือนกันยายน 2530 เป็นเวลาถึง 34 วันโดยลาป่วยบ่อย ๆ เป็นประจำทุกเดือน ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ไม่สามารถตรากตรำทำงานหนักในหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถได้ ทั้งจำเลยก็เคยมีหนังสือเตือนโจทก์มาแล้วถึง 2 ครั้งในกรณีที่โจทก์ลาเกินสิทธิดังกล่าว แต่โจทก์ก็ยังคงลาป่วยอีก จึงถือได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน และเป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้แล้วการที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฐานหย่อนสมรรถภาพในการทำงานนั้นจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน’.

Share