คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4114/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือรับรองการส่งออกสินค้าสิ่งทอของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นหนังสือที่ทำให้ผู้ส่งออกที่เป็นเจ้าของสินค้าสิ่งทอดังกล่าวสามารถมีสิทธิส่งสินค้าของตนไปขาย จำหน่ายในต่างประเทศได้ หากไม่ได้หนังสือรับรองการส่งออกดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะส่งสินค้าสิ่งทอของตนออกไปได้ การทำปลอมสำเนาหนังสือรับรองการส่งออกสินค้าสิ่งทอ จึงเป็นการทำปลอมเอกสารสิทธิ แม้สำเนาหนังสือรับรองการส่งออกสินค้าสิ่งทอ เป็นใบกำกับสินค้าซึ่งผู้ส่งออกเป็นผู้จัดทำขึ้นเอง มิใช่เป็นเอกสารที่จัดทำโดยกรมการค้าต่างประเทศ แต่เมื่อเป็นเอกสารที่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยและลงตราประทับพร้อมลายมือชื่อของพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อให้ได้สิทธิในการส่งออกสินค้าสิ่งทอไปต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ การทำปลอมสำเนาหนังสือรับรองการส่งออกสินค้าสิ่งทอ จึงเป็นการทำปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ
แม้การกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ก่อให้เกิดความเสียหายอันมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ แต่ในส่วนพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ยังไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับจำเลยที่ 3 เป็นหญิง ป่วยเป็นเนื้องอกสมอง อยู่ระหว่างการรักษา ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 3 แต่เพื่อให้จำเลยที่ 3 ได้รู้สำนึกในการกระทำของตนและไม่หวนกลับมากระทำความผิดอีก จึงให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1911/2546 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนนี้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251, 252, 264, 265, 266, 268, 83, 91
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252 ประกอบมาตรา 251 และมาตรา 268 (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคแรก) ประกอบมาตรา 266 (1) เป็นผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 268 (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคแรก) ประกอบมาตรา 266 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกและยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 2และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องข้อ 2.5 ถึง 2.7 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพยานซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการออกหนังสือรับรองการส่งออกสินค้าสิ่งทอ มาเบิกความสอดคล้องยืนยันว่า หนังสือรับรองการส่งออกสินค้าสิ่งทอเป็นเอกสารปลอม โดยมีพันตำรวจตรีพิษณุยืนยันว่า แม้เป็นเพียงสำเนาเอกสารก็สามารถตรวจพิสูจน์ได้ เมื่อเอกสารซึ่งเป็นสำเนานั้นมีความคมและลักษณะของเส้นไม่แตกต่างจากต้นฉบับ ขณะที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าเป็นเอกสารปลอม ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ไม่ใช่เอกสารสิทธิและไม่เป็นเอกสารราชการนั้น เห็นว่าเป็นเอกสารปลอมที่ทำขึ้นเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นหนังสือรับรองการส่งออกสินค้าสิ่งทอที่แท้จริงของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อันเป็นหนังสือที่ทำให้ผู้ส่งออกที่เป็นเจ้าของสินค้าสิ่งทอดังกล่าวสามารถมีสิทธิส่งสินค้าของตนไปขายจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ หากไม่ได้หนังสือรับรองการส่งออกดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะส่งสินค้าสิ่งทอของตนออกไปได้ การทำปลอมสำเนา จึงเป็นการทำปลอมเอกสารสิทธิ และแม้สำเนา เป็นใบกำกับสินค้าซึ่งผู้ส่งออกเป็นผู้จัดทำขึ้นเอง มิใช่เป็นเอกสารที่จัดทำโดยกรมการค้าต่างประเทศ แต่เมื่อเป็นเอกสารที่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยและลงตราประทับพร้อมลายมือชื่อของพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อให้ได้สิทธิในการส่งออกสินค้าสิ่งทอไปต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ จึงเป็นการทำปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เห็นว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดี.เค. การ์เมนท์ มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนของห้างฯ ตั้งแต่ปี 2524 แม้จำเลยที่ 2 เป็นเพียงหุ้นส่วนเท่านั้น ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และจำเลยที่ 3 แม้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ แต่ก็เป็นระหว่างวันที่ 2 มีนาคม 2524 ถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2530 ตามสำเนาหนังสือรับรองอันเป็นเวลาก่อนเกิดเหตุก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เป็นหุ้นส่วนของห้างฯ ตลอดมา โดยไม่ขาดสาย รวมทั้งในช่วงเวลาเกิดเหตุ และนับแต่ปี 2531 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างฯ ให้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงิน เบิกถอนเงินตลอดจนมีอำนาจในการดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับบัญชีกระแสรายวันของห้างฯ ดังรายละเอียดตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ และในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดของการมอบอำนาจไว้ นั่นหมายถึงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 สามารถกระทำการแทนห้างฯ แทบทุกกรณี โดยเฉพาะในกรณีจำเป็นและสำคัญคือการเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของห้างฯ ได้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเจือสมกับที่นายกฤตปุณย์ และนางสาวสุธีรา พนักงานของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มาติดต่อกับธนาคารในนามของห้างฯ และเป็นผู้ตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ แต่เพียงผู้เดียว เมื่อได้ความว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ดี.เค. การ์เมนท์ ขอสินเชื่อในการดำเนินธุรกิจจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขอสินเชื่อ และมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อของห้างฯ ในนามส่วนตัว ทั้งจำเลยที่ 2 ยังนำหลักทรัพย์เป็นเงินฝากในบัญชีของตนจำนวน 3,000,000 บาท มาค้ำประกัน โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นสามีภริยากัน เช่นนี้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันบริหารจัดการในกิจการต่าง ๆ ของห้างฯ เพียงสองคนเท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้เอกสารปลอมตามสำเนา เฉพาะในส่วนของใบกำกับสินค้าหมายเลข บี.อี.เอ็น. 010/93, 011/93 และ 015/93 ตามฟ้องข้อ 2.5 ถึง 2.7 อันเป็นการใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่ามีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า แม้การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อให้เกิดความเสียหายอันมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ แต่ในส่วนพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ยังไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับจำเลยที่ 3 เป็นหญิง และได้ความว่าจำเลยที่ 3 ป่วยเป็นเนื้องอกสมอง อยู่ระหว่างการรักษาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3โดยไม่รอการลงโทษให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังขึ้นแต่เพื่อให้จำเลยที่ 3 ได้รู้สำนึกในการกระทำของตนและไม่หวนกลับมากระทำความผิดอีกจึงให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 3 อีกสถานหนึ่ง โดยปรับกระทงละ 20,000 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 3 เป็นจำคุก 3 ปี และปรับ 60,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 3 ฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share