คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 423/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งคำสั่งให้รื้อถอนอาคารโดยทำเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งดังกล่าว ณ ภูมิลำเนาของผู้นั้น และให้ปิดประกาศคำสั่งดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และให้ถือว่าผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ดังนั้น วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาที่ให้ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนด อันเป็นวันที่บ่งบอกวันกระทำความผิด คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า วันที่ 16 ตุลาคม 2546 นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งควายกินมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และจำเลยทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2546 ซึ่งมิใช่ระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันปิดประกาศ อันถือเป็นวันทราบคำสั่งตามกฎหมายดังกล่าว จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้เมื่อใด จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่เกิดการกระทำความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ครบถ้วนแล้ว
การฝ่าฝืนปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 21 ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคาร แล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตาม การกระทำของจำเลยต่อจากนั้นที่ไม่ยอมรื้อถอนย่อมเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42, 66 ทวิ แต่ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 21, 65 วรรคสอง อีก ดังนั้นจำเลยจึงต้องชำระค่าปรับรายวันตามมาตรา 21, 65 วรรคสอง ถึงวันก่อนครบกำหนดรื้อถอนตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเท่านั้น มิใช่จนถึงวันที่จำเลยรื้อถอนเสร็จสิ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 91 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8, 9, 108 ทวิ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 21, 40, 42, 65, 66 ทวิ, 67, 69, 71, 72 และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินที่บุกรุก กับให้จำเลยรื้อถอนอาคาร สิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8, 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 21, 40 (3), 42, 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 66 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 69, 71 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ และที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาท ฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 5,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารจำคุก 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 28,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 14,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้ปรับจำเลยเป็นรายวัน วันละ 500 บาท ฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2546 จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และปรับเป็นรายวัน วันละ 100 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2546 จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้จำเลย คนงานผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดิน และให้จำเลยรื้อถอนอาคาร สิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคาร คงจำคุกจำเลย 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท กับปรับจำเลยเป็นรายวัน วันละ 500 บาท ในความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต รวม 120 วัน เป็นเงิน 60,000 บาท ลดโทษปรับรายวันให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับรายวันรวมเป็นเงิน 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งคำสั่งให้รื้อถอนอาคารโดยทำเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งดังกล่าว ณ ภูมิลำเนาของผู้นั้นและให้ปิดประกาศคำสั่งดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และให้ถือว่าผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวัน นับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ดังนั้น วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาที่ให้ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนด มิฉะนั้นก็จะมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงบ่งบอกวันกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า วันที่ 16 ตุลาคม 2546 นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งควายกิน มีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และจำเลยทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2546 ซึ่งมิใช่ระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันปิดประกาศ อันถือเป็นวันทราบคำสั่งตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้เมื่อใด จึงถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่เกิดการกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ครบถ้วนแล้ว ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อต่อไปว่า จำเลยต้องชำระค่าปรับรายวันในความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯมาตรา 21, 65 วรรคสอง เป็นระยะเวลาเท่าใด โดยโจทก์อ้างในฎีกาว่า จำเลยก่อสร้างอาคารโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 21 ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ จึงไม่มีกำหนดวันปฏิบัติให้ถูกต้องคงต้องรื้อถอนสถานเดียว ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา21, 65 วรรคสอง ต้องชำระค่าปรับรายวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง คือจนกว่าจะรื้อถอนอาคารเสร็จสิ้นนั้น เห็นว่า การฝ่าฝืนปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคารฯ มาตรา 21 ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคาร แล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตาม การกระทำของจำเลยต่อจากนั้นที่ไม่ยอมรื้อถอนย่อมเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42, 66 ทวิ แต่ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 21, 65 วรรคสอง อีก ดังนั้นจำเลยจึงต้องชำระค่าปรับรายวันตามมาตรา 21, 65 วรรคสอง ถึงวันก่อนครบกำหนดรื้อถอนตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเท่านั้น มิใช่จนถึงวันที่จำเลยรื้อถอนเสร็จสิ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share