คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1504/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เอกสารที่จำเลยทำให้โจทก์มีข้อความว่าจำเลยจะนำเงินจำนวน 50,000 บาทมาใช้แก่โจทก์ภายในเดือนพฤษภาคม 2526 แสดงว่าจำเลย เป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนที่ระบุไว้ ใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยืมเงินไปจากโจทก์หลายครั้ง รวมเป็นเงิน50,000 บาท ต่อมาจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารท้ายฟ้องให้ไว้แก่โจทก์ แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ ขอบังคับให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัด จำเลยให้การว่าไม่เคยยืมเงินจากโจทก์ เอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์เคยเป็นภรรยาคนที่ 2 ของจำเลย ต่อมาแยกทางกัน โจทก์ขอเงินจากจำเลย 50,000 บาทมิฉะนั้นจะร้องเรียนผู้บังคับบัญชา จำเลยจึงทำหนังสือตามเอกสารท้ายฟ้องให้โจทก์ หนังสือดังกล่าวเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 50,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัด จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ เอกสารหมาย จ.1 ไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมจะนำมาฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้นั้น ปรากฏข้อความในเอกสารหมาย จ.1ว่า จำเลยจะนำเงินจำนวน 50,000 บาท มาใช้ให้แก่โจทก์ภายในเดือนพฤษภาคม 2526 เห็นว่า เอกสารที่จำเลยทำให้ไว้กับโจทก์ดังกล่าวมีข้อความว่าจำเลยจะใช้เงินให้กับโจทก์ย่อมแสดงว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ จึงใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินยืมแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share