แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกรณียื่นฎีกาพ้นกำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยายฎีกาแล้ว ไม่อาจจะอนุญาตให้ฎีกาในวันนี้ได้ จึงไม่รับฎีกาของจำเลย
จำเลยเห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนาที่จะยื่นฎีกาของจำเลยให้พ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลขยายให้ แต่เป็นเพราะความไม่ละเอียดของทนายจำเลยที่เห็นตัวเลขวันที่ที่ศาลมีคำสั่งวันที่ 2 เป็นวันที่ 7 จึงได้นำฎีกามายื่นต่อศาลในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544ดังกล่าว และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ส่งฎีกาของจำเลยไปให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาตามลำดับแต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุที่จะส่งไปให้ผู้พิพากษาเพื่อมีคำสั่ง คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้ส่งคำร้องของจำเลยไปให้ผู้พิพากษาที่จำเลยกล่าวไว้ในคำร้องของจำเลย ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 เพื่อลงลายมือชื่ออนุญาตฎีกา และรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ยังมิได้รับสำเนาคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,66 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท แต่มีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 5 ปี
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับดังกล่าว(อันดับ 89,88 แผ่นที่ 3)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 92)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยยื่นฎีกา พร้อมคำร้องขอให้อนุญาตฎีกา แต่ฎีกาและคำร้องของจำเลยดังกล่าวยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยาย ฉะนั้นไม่ว่าผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งอย่างไร ศาลชั้นต้นย่อมสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยอยู่แล้ว เพราะเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ที่จำเลยอ้างว่ายื่นฎีกาหลังพ้นกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายเพราะทนายจำเลยเห็นตัวเลขวันที่ในคำสั่งของศาลชั้นต้นผิดไปนั้นเป็นความประมาทเลินเล่อของทนายจำเลยเอง มิใช่เหตุสุดวิสัยรับฟังไม่ได้ คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว ยกคำร้อง